ลักษณะของต้นข่อย
- ต้นข่อย มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบ ๆ ต้นหรือเป็นพูเป็นร่องทั่วไป ซึ่งอาจจะขึ้นเป็นต้นเดียวหรือเป็นกลุ่ม เปลือกต้นมีสีเทาอ่อน บาง ขรุขระเล็กน้อย แตกเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางสีขาวข้นเหนียวซึมออกมา แตกกิ่งก้านมีสาขามาก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มทึบ และนิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้รากปักชำ เพราะจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการใช้กิ่งปักชำหรือการเพาะเมล็ด
- ใบข่อย ลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดเล็ก แผ่นใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนากรอบ ผิวใบสากคล้ายกระดาษทรายทั้งสองด้าน ลักษณะใบคล้ายรูปรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร
- ดอกข่อย ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวเหลืองอ่อน โดยจะออกปลายกิ่งตามซอกใบ ดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นกระจุก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ต่างดอกกัน
- ผลข่อย ผลสดมีลักษณะกลมสีเขียว ผลคล้ายรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดโตเท่ากับเมล็ดพริกไทย มีเนื้อเยื่อหุ้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลืองใสและมีรสหวาน และเป็นที่ชื่นชอบของพวกนกเป็นอย่างมาก
สรรพคุณของข่อย
- ต้นข่อยมีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เปลือก)
- รากเปลือกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (รากเปลือก)
- เมล็ดสามารถนำมารับประทานเป็นยาอายุวัฒนะได้ (เมล็ด)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เมล็ด)
- เปลือกเมื่อนำมาต้มกับเกลือจะได้เป็นยาอมช่วยแก้รำมะนาดได้ (เปลือก)
- เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวงที่จมูก ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาม้วนทำเป็นยาสูบ (เปลือกต้น)
- กิ่งสดช่วยทำให้ฟันทนแข็งแรง ฟันไม่ผุ ไม่ปวดฟัน ด้วยการใช้กิ่งสดประมาณ 5-6 นิ้วฟุต นำมาหั่นแล้วต้มใส่เกลือ เคี่ยวให้งวด เหลือน้ำแค่ครึ่งเดียว นำมาอมเช้าและเย็น (กิ่งสด)
- เมล็ดช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากและทางเดินอาหารได้ ด้วยการใช้เมล็ดรับประทานและต้มน้ำอมบ้วนปาก (เมล็ด)
- ช่วยแก้ไข้ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน (เปลือก)
- ข่อยมีสรรพคุณช่วยดับพิษภายในร่างกาย (เปลือก)
- สรรพคุณข่อยช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก)
- ช่วยแก้อาการบิด แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน (เปลือก)
- ใบข่อยสด ๆ นำมาปิ้งไฟชงกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ ได้ (ใบ)
- ช่วยขับลมในลำไส้ (เปลือก, เมล็ด)
- เปลือกใช้ทาริดสีดวง (เปลือก)
- ช่วยรักษาแผลได้ (เปลือก, ราก)
- ชวยรักษาโรคผิวหนังได้ (เปลือก)
- ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ (เปลือก)
- ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง (เปลือก)
- ใบข่อยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดของมดลูกในระหว่างมีประจำเดือน ด้วยการนำใบมาคั่วให้แห้งแล้วชงกับน้ำดื่ม (ใบ)
- เนื้อและแก่น ชาวเชียงใหม่ใช้แก่นข่อยนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วมวนเป็นบุหรี่ไว้สูบเพื่อแก้ริดสีดวงที่จมูก (เนื้อ, แก่น, เปลือกต้น)
ประโยชน์ของข่อย
- ยางมีน้ำย่อยที่ชื่อว่า milk (lotting enzyme) มีประโยชน์ในการช่วยย่อยน้ำนม
- กิ่งข่อยสามารถนำมาใช้แปรงฟันแทนการใช้แปรงสีฟันได้ และยังทำให้ฟันแข็งแรงอีกด้วย แต่ต้องนำมาทุบให้นิ่ม ๆ ก่อนนำมาใช้ (กิ่งข่อย)
- ยางสามารถนำมาใช้กำจัดแมลงได้
- ไม้นำมาใช้ทำกระดาษ ทำเป็นสมุดไทยหรือสมุดข่อยได้
- เปลือกนำมาใช้ทำปอหรือใช้ทำเป็นกระดาษได้
- นิยมปลูกเพื่อทำรั้ว หรือปลูกไว้เพื่อดัดปรับแต่งเป็นรูปต่าง ๆ ที่เรียกว่าไม้ดัด (ต้นข่อยดัด)
- สำหรับต้นข่อย คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้ผู้อาศัยเกิดความมั่นคง มีความแข็งแกร่ง อดทนได้ดีเยี่ยม ช่วยป้องกันศัตรูจากภายนอก ทำให้แคล้วคลาดจากอันตรายที่เกิดจากผู้ที่ไม่หวังดีหรือศัตรูที่อาจมาทำอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน และใบข่อยยังนำมาใช้โบกพัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านได้อีกด้วย และเพื่อความเป็นสิริมงคลจะนิยมปลูกต้นข่อยในวันเสาร์และปลูกไว้ทางทิศตะวันออก
- นอกจากนี้ต้นข่อยเป็นวัสดุที่ใช้ในการสื่อสารที่สำคัญในอดีตหรือที่เรียกกันว่า “สมุดข่อย” เพราะเนื้อไม้มีความแข็งแรงคงทน
*ภาพและข้อมูลจาก https://medthai.com/