จิกบ้าน

 

  • ต้นจิกบ้าน หรือ ต้นจิกสวน มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเพื่อนบ้านใกล้เคียงตั้งแต่ประเทศอินเดียไปจนถึงเกาะชวาของอินโดนีเซีย และมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตอนใต้ของแอฟริกาถึงเคนยา อินเดีย ศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย ไปจนถึงหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้น มีความสูงได้ประมาณ 2-20 เมตร เปลือกลำต้นมีลักษณะขรุขระเป็นสีน้ำตาลปนเทา ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลเรื่อถึงสีชมพู มีเส้นใยเหนียว และมีสานเทนนินเป็นจำนวนมากกว่า 18 % ต่อน้ำหนักเปลือก

ต้นจิกสวน

  • ใบจิก ออกใบดก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเรียงเวียนรอบกิ่ง เป็นกระจุกหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ รูปไข่กลีบแกมรูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบหยักตื้นมนและละเอียด หรือเป็นจักเล็กน้อยคล้ายกับฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-14 เซนติเมตรและยาวประมาณ 14-36 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ไม่นุ่ม มีก้านใบสั้นและเป็นครีบเล็กน้อย ก้านใบอวบสั้น ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร

ใบจิกสวน

  • ดอกจิก ออกดอกเป็นช่อห้อยลง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-70 เซนติเมตร ก้านช่อดอกเป็นสีชมพูและเขียว ลักษณะของช่อดอกคล้ายกับแปรงล้างขวด ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 3-16 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีชมพู ในดอกตูม ดอกมีกลีบดอก 4 กลีบ ปลายกลีบมนและโค้ง กลีบเป็นสีชมพูมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมีประมาณ 2-4 กลีบ ติดกันเป็นเนื้อเดียว มีขนาดเท่ากันหรือไม่เท่ากัน ดอกมีเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กสีชมพูเข้มและมีจำนวนมาก ส่วนโคนเชื่อมติดกัน ก้านเกสรยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร เป็นสีขาว โคนก้านเป็นสีชมพู เรียงเป็นชั้นประมาณ 5-6 ชั้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม (บ้างว่าออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม)

ดอกจิกบ้านดอกจิกสวน

รูปดอกจิกบ้าน

จิกบ้าน

รูปดอกจิกสวน

  • ผลจิก ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ปลายตัดตรง ผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ โคนแคบเกือบเป็นรูปสามเหลี่ยม และผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดเดี่ยว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่ ผิวเมล็ดเป็นร่อง (ในเมล็ดมีสาร Saponin) โดยจะออกผลในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม[

ผลจิกสวน

สรรพคุณของจิกสวน

  1. ช่วยแก้ตาเจ็บ เยื่อตาอักเสบ (เมล็ด)
  2. เมล็ดใช้ผสมกับน้ำนม ช่วยแก้โรคดีซ่านและโรคเกี่ยวกับน้ำดี (เมล็ด)
  3. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ต้น)
  4. แก้ชัก (ใบ)
  5. รากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น นำมาทำเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก)
  6. ใบใช้ตำพอก ช่วยแก้ไข้ทรพิษ หรือจะใช้ใบตำรวมกับรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน (ใบ)
  7. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ไข้ตัวร้อน (เมล็ด)
  8. ผลนำมาตำเอาแต่น้ำใช้รับประทานช่วยแก้อาการไอ (ผล) ส่วนเมล็ดก็ช่วยแก้อาการไอเช่นกัน (เมล็ด)
  9. ผลนำมาตำเอาแต่น้ำใช้รับประทานช่วยแก้หืด (ผล)
  10. ช่วยแก้เสมหะพิการ (ต้น)
  11. ช่วยแก้อาการเจ็บคอ โดยนำผลมาตำเอาแต่น้ำรับประทาน (ผล)
  12. เมล็ดช่วยแก้อาเจียน (เมล็ด)
  13. ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ต้น)
  14. ช่วยแก้อาการท้องเสีย โดยนำผลมาตำเอาแต่น้ำรับประทาน(ผล)
  15. ช่วยแก้อาการจุกเสียด แน่น ปวดท้อง (เมล็ด)
  16. ช่วยแก้อุจจาระพิการ (ใบ)
  17. ใบและผลใช้ต้มดื่ม ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบ, ผล)
  18. ช่วยแก้บิดมูกเลือด (ใบ)
  19. รากใช้เป็นยาระบาย (ราก)
  20. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาขับพยาธิ (เมล็ด, เปลือก)
  21. เนื้อไม้ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เนื้อไม้)
  22. ใบมีรสฝาดใช้เป็นยาสมานบาดแผล (ใบ)
  23. ใบใช้ตำพอกแก้อาการคัน หรือจะใช้ใบตำรวมกับรากและเปลือกก็มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน (ใบ, ราก, เปลือก)
  24. ผลใช้ตำพอกแก้ผิวหนังพุพองและใช้พอกแก้เจ็บคอ (ผล)
  25. เปลือกใช้เป็นยาแก้โรคปวดข้อ (เปลือก)

ข้อควรระวัง ! : หากละอองเกสรของดอกจิกเข้าตา อาจทำให้ตาอักเสบและแดงได้

ประโยชน์ของจิกสวน

  1. ใบอ่อนของต้นจิกสวนสามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสดได้ มีรสชาติดีเฉพาะตัว แต่ค่อนข้างฝาดเล็กน้อย นิยมรับประทานกันไม่เฉพาะในคนไทยเท่านั้น แต่คนชาติอื่น ๆ ก็นิยมรับประทานเช่นกัน บ้างว่านอกจากจะใช้ใบอ่อนหรือยอดอ่อนแล้ว ยังใช้ดอกรับประทานเป็นผักสดได้อีกด้วย โดยทั้งยอดอ่อนและดอกจะนิยมรับประทานเป็นผักสด หรือรับประทานเป็นผักจิ้มกับลาบ แจ่ว น้ำตก หรือขนมจีน เป็นต้น
  2. ดอกของต้นจิกมีความสวยงาม จึงเป็นที่นิยมในหลายท้องถิ่น ในการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งในบ้านเราจะนิยมปลูกในวัดวาอาราม เพราะนอกจากจะมีดอกและทรงพุ่มที่สวยงามแล้ว ต้นจิกยังถือเป็นต้นไม้ในพระพุทธประวัติอีกด้วย เพราะในพุทธประวัติกล่าวไว้ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรงย้ายไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นจิก 7 วัน และในระหว่างนั้นเองก็ได้มีฝนตกพรำและมีลมหนาวพัดตลอดเวลา ก็ได้มีพญานาคตนหนึ่งชื่อพระยามุจลินท์นาคราช ได้แผ่พังพานปกป้องพระพุทธเจ้าจากฝนและลมหนาวตลอดทั้ง 7 วันใต้ต้นจิก นี่คือมูลเหตุของการสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และบางคำภีร์ก็ได้กล่าวไว้ว่า ในป่าหิมพานต์มีสระใหญ่แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า “สระมุจลินท์” โดยสระนี้จะมีต้นจิกขึ้นอยู่รอบขอบสระเป็นจำนวนมาก หากถือตามความเชื่อนี้ ก็ถือว่าต้นจิกนี้มีถิ่นกำเนิดในป่าหิมพานต์นั่นเอง
  3. เนื้อไม้จิกเป็นไม้เนื้ออ่อน มีสีขาวแกมสีแดง มีความเหนียว สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างในร่มได้ดี หรือนำมาใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ ครก สาก เครื่องเรือน หรือใช้ทำเรือ พาย ทำเกวียน เป็นต้น
  4. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาสำหรับเบื่อปลา (ไม่แน่ใจว่าคือเปลือกต้นหรือเปลือกดอก แต่มีข้อมูลระบุว่าเป็นเปลือกของดอก) บ้างว่าใช้เปลือกกับเมล็ดนำมาทุบให้แตก ใช้ตีกับน้ำเป็นยาเบื่อปลา
  5. เมล็ดหรือเปลือกใช้เป็นยาฆ่าแมลง โดยน้ำที่สกัดได้จากเปลือกต้นมีความเข้มข้นประมาณ 2-2.5% สามารถใช้ฆ่าเพลี้ยต้นส้มได้

ภาพและข้อมูลจาก https://medthai.com/