ต้นนนทรี

ต้นนนทรี

นนทรี

นนทรี ชื่อสามัญ Copper pod, Yellow flame, Yellow poinciana (นนทรี อ่านว่า นน-ซี)

นนทรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

 

 

สมุนไพรนนทรี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน เป็นต้น[1],[2] ต้นนนทรีเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[2]

ลักษณะของนนทรี

ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลาย ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด

  • ใบนนทรีใบออกเป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 20-27 เซนติเมตร มีใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ประมาณ 9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้น ๆ จะสั้นกว่าคู่ถัดไป และคู่ที่อยู่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรหลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อน
  • ดอกนนทรีออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 6-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน โดยทั่วไปจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และออกดอกทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่อาจขยายเวลาได้ตามลักษณะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และลักษณะของพันธุกรรมของต้นนนทรีแต่ละต้น

  • ผลนนทรีเนื่องจากต้นนนทรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว จึงออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบนเป็นรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดวางตัวเรียงขวางกับฝักประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรง มีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

สรรพคุณของนนทรีป่า

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต (เปลือกต้น)
  2. ช่วยปิดธาตุ (เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาขับผายลม (เปลือกต้น)
  4. เปลือกต้นมีสารแทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ (เปลือกต้น)ด้วยการนำเปลือกต้นมาเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอาน้ำมากิน (เปลือกต้น)
  5. ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)
  6. เปลือกต้นใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของของสตรี (เปลือกต้น)
  7. ใช้เป็นยาสมานแผลสด (เปลือกต้น)
  8. ยอดใช้เป็นยาทาแก้โรคเจ็ด (โรคผิวหนังชิดหนึ่ง) โดยใช้ยอด 1 กำมือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับไข่ขาว (ไข่เป็ด) ใช้ทาบริเวณที่เป็น แล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วค่อยลอกออก (ยอด)
  9. เปลือกต้นนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ

ประโยชน์ของนนทรี

  1. ยอดและฝักอ่อนใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน[6]
  2. เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าปาเต๊ะ ใช้ย้อมแหและอวน[4],[5]
  3. เนื้อไม้นนทรีมีสีน้ำตาลอมสีชมพู เป็นมันเลื่อม เสี้ยนไม้ตรงหรือเป็นคลื่นบ้าง เนื้อไม้มีความหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งได้ง่าย มอดปลวกไม่กิน ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี เช่น ทำพื้น เพดาน ฝา รอด ตง อกไก่ หรือใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำหีบ พานท้ายปืน คันไถ ฯลฯ หรือใช้เผาทำถ่าน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นไม้มงคลอีกด้วย
  4. ต้นนนทรีเป็นพันธุ์ไม้โตเร็ว ปลูกง่าย มีความแข็งแรงทนทาน มีรูปทรงของต้นและมีดอกที่สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงเหมาะสำหรับนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ สวนสาธารณะ รีสอร์ท ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี ใช้เป็นร่มเงาในสวนกาแฟได้ดีมาก เพราะเป็นไม้ตระกูลถั่ว จึงช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม  “นนทรี (Non Si)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 149.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 278 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นนทรีจากป่าสู่นาคร”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: doctor.or.th.  [24 มี.ค. 2014].
  3. พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_1.htm. [24 มี.ค. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: bedo.or.th. [24 มี.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: lib.ku.ac.th.  [24 มี.ค. 2014].
  6. พืชผักพื้นบ้าน นครศรีธรรมราช 103 ชนิด, เทศบาลเมืองทุ่งสง. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tungsong.com.  [24 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Forest and Kim Starr, Cerlin Ng, Tony Rodd, cpmkutty, Dinesh Valke, Himanshu Sarpotdar, Nieminski, Lourdes Zerimar)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)