สมุนไพรทองบ้าน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ทองหลางลาย, ทองหลางด่าง, ทองหลางใบมนด่าง, ทองหลางดอกแดง, ทองเผือก (ไทย), ชื่อถง ไห่ถงผี (จีนกลาง) (เป็นต้น)
ลักษณะของทองบ้าน
- ต้นทองบ้าน เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 18-20 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้งและคม ปลายหนามเป็นสีม่วงคล้ำ เปลือกลำต้นบางเป็นสีเทา สีเทาอมน้ำตาล หรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ เนื้อไม้เปราะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง เป็นพรรณไม้ที่ปลูกขึ้นง่าย เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด
- ใบทองบ้าน ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปสามเหลี่ยมมน ปลายใบแหลมยาวคล้ายใบโพธิ์ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบยอดที่อยู่ปลายสุดจะมีขนาดใหญ่กว่าใบคู่ล่าง หน้าใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนหลังใบมีสีเขียวอ่อนมีแถบสีเหลืองตามแนวเส้นใบ เส้นใบมี 3 เส้น มีขนปกคลุมเล็กน้อย ก้านใบสั้น ก้านช่อใบยาวประมาณ 3-4 นิ้ว
- ดอกทองบ้าน ออกดอกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่ม ๆ บริเวณข้อต้น โคนก้านใบ หรือที่ยอดต้น ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร มีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกเป็นสีแดงสด ดอกมีลักษณะคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มักจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
- ผลทองบ้าน ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ออกเป็นพวง ๆ โคนฝักเล็กลีบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายฝักจะบวม เห็นเป็นสันของเมล็ดได้ชัดมาก เมื่อฝักแก่เต็มที่ปลายฝักจะแตกอ้าออก ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-8 เมล็ด มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร รูปกลม และเป็นสีแดงเข้ม
สรรพคุณของทองบ้าน
- เปลือกต้นมีรสเฝื่อน ขม เผ็ด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ใช้เป็นยาขับลมชื้น ทะลวงเส้นลมปราณ (เปลือกต้น)
- เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยทำให้ความดันโลหิตในเส้นเลือดแดงเพิ่มขึ้น (เปลือกราก)
- เมล็ดนำมาตำให้ละเอียดเป็นผงหรือนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษามะเร็ง (เมล็ด)
- ใบใช้เป็นยากระตุ้นให้อยากอาหาร (ใบ)
- ใช้เป็นยานอนหลับได้ดี (ใบ)
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 20-40 กรัม (ถ้าแห้งให้ใช้เพียง 10-15 กรัม) นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้เปลือกต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกินก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน (เปลือกต้น, ใบ)
- เปลือกรากใช้เป็นยารักษาอาการไอเกร็งเนื่องจากโรคหอบหืดหรือขั้วปอดอักเสบ (เปลือกราก)
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ ด้วยการใช้ใบสดและรากสด อย่างละ 30 กรัม ใส่น้ำตาลทรายประมาณ 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินวันละ 2 ครั้ง (ใบ, ราก)
- ช่วยแก้อาเจียน (ใบ)
- เปลือกรากนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยากระตุ้นหัวใจ กระตุ้นไขสันหลัง (เปลือกราก)
- ใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน ด้วยการนำเปลือกต้นมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วบดให้เป็นผงละเอียดผสมกับน้ำเล็กน้อย ใช้อุดบริเวณฟันที่มีอาการปวด ส่วนใบก็ใช้เป็นยาแก้ปวดฟันได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ใบ)
- ใบสดนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคบิด ปวดท้อง (ใบ) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เปลือกต้นเป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น)
- ใบนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาขับพยาธิ (ใบ) ส่วนอีกตำราระบุให้ใช้เปลือกต้นเป็นยาขับพยาธิ (เปลือกต้น)
- ใช้ใบสดหรือดอกสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับระดูของสตรี หรือจะใช้เมล็ดนำมาตำให้ละเอียดเป็นผงหรือนำมาต้มกับน้ำกินก็ได้ (ใบ, ดอก, เมล็ด)
- เปลือกลำต้นสดนำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคตับ (เปลือกต้น)
- หากผิวหนังเป็นน้ำเหลืองหรือเป็นฝี ให้ใช้ใบสดนำมาคั้นเอาน้ำล้างบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)
- เมล็ดนำมาตำให้ละเอียดเป็นผงหรือนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษงู และรักษาฝี (เมล็ด)
- เปลือกต้นใช้ภายนอกเป็นยาแก้กลากเกลื้อน ผดผื่นคัน โรคผิวหนัง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาแก้อาการปวดข้อ ปวดบวมตามข้อ ปวดกระดูก และแก้ปวดได้ทุกชนิด ด้วยการใช้เปลือกสด ๆ ประมาณ 20-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มกิน (เปลือก)
- ใบใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อยตามไขข้อ (ใบ)
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการฟกช้ำ แก้ปวดเมื่อย แก้เหน็บชาเนื่องจากลมชื้น แก้ปวดตามข้อ ปวดเอว ปวดขา ปวดเอ็น และปวดกระดูก ตำรับยาขับลมชื้น แก้อาการปวดเมื่อย ระบุให้ใช้เปลือกต้นทองบ้าน 15 กรัม, เชียนจินเป่า 18 กรัม, สั่วหม่าอี 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนตำรับยาแก้อาการปวดเอว มือเท้าเย็นชา จะใช้เปลือกต้นทองบ้าน 10 กรัม, หอมใหญ่ 10 กรัม, หญ้าพันงูแดง 10 กรัม, ซานจูยีว 10 กรัม, ปู่กุ้จือ 10 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน (เปลือกต้น)
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] เปลือกแห้งให้ใช้ครั้งละ 8-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำหรือดองกับเหล้ากิน ส่วนการนำมาใช้ภายนอกให้นำมาต้มเอาน้ำล้างแผลหรือบดให้เป็นผงใช้โรยบริเวณที่เป็นแผล
ข้อห้ามใช้ : ผู้ที่เลือดน้อย โลหิตจาง ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com