ต้นกระทิง เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอินโดจีน (ไทย พม่า ลาว เวียดนาม เขมร มาเลเซีย อินเดีย ศรีลังกา) ในประเทศไทยมีต้นกระทิงอยู่ 2 ชนิด ชนิดแรกใบสีเขียว (Calophyllum inophyllum Linn.) ส่วนอีกชนิดจะเป็นใบสีแดง (Calophyllum polyanthum Wall. ex Choisy) แต่ไทยเรามักจะใช้ต้นกระทิงใบเขียวกันมากกว่า
ลักษณะของต้นกระทิง
- ต้นกระทิง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ ไม่เป็นระเบียบ ลำต้นค่อนข้างสั้นและมักบิดแตกเป็นกิ่งใหญ่ ๆ จำนวนมากทั้งแนวนอนและแนวตั้งหรือห้อยลง มีความสูงของต้นประมาณ 8-20 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีแดงเข้ม ต้นเมื่อแก่จะแตกเป็นร่อง ภายในมียางสีเหลืองใส ๆ เปลือกด้านในเป็นสีชมพู ส่วนแก่นไม้เป็นสีน้ำตาลอมแดง ตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลปนสีแดงอยู่ประปราย โดยต้นกระทิงเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดจัด มักขึ้นตามป่าใกล้ชายทะเล ป่าดงดิบ พบได้มากทางภาคใต้ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง ชอบดินทรายระบายน้ำได้ดี แต่ขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด หากได้รับน้ำมากพอใบจะเป็นมันสวยงาม (สำหรับการตัดแต่งพันธุ์ไม้ชนิดนี้ควรระมัดระวังน้ำยางสีเหลืองจากต้นด้วย เพราะมีความเป็นพิษ)
- ใบกระทิง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือเป็นรูปไข่กลับแกมขอบขนาน โคนใบสอบ ปลายใบมนกว้างและมักหยักเว้าเล็กน้อย ใบมีความกว้างประมาณ 4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบค่อนข้างหนาแข็งและเกลี้ยง ขอบใบเรียบและผิวมันเคลือบ ท้องใบเรียบเป็นสีอ่อนกว่า มีเส้นแขนงใบถี่มากและขนานกัน มองเห็นไม่ชัดเจน ส่วนเส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านหลังใบ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะแห้งเป็นสีน้ำตาล และมีก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร (เปลือกของต้นมีสารแทนนินอยู่ 19%)
- ดอกกระทิง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ ช่อละประมาณ 5-8 ดอก ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกกันอิสระ ดอกเป็นสีขาวมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ กลีบเลี้ยงดอกมี 4 กลีบ ยาวประมาณ 2.7-10 มิลลิเมตร โดยสองกลีบนอกจะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับและงอเป็นกระพุ้ง ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนอีกสองกลับถัดเข้าไปจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกมี 4 กลีบ กว้างประมาณ 7-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปช้อนหรือรูปไข่กลับ ขอบงอ ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ลักษณะของดอกเป็นดอกตูมค่อนข้างกลมสีขาวนวล มีเกสรตัวผู้สีเหลืองจำนวนมาก มีกลิ่นหอม เป็นแต้มสีเหลืองรอบ ๆ เกสรตัวเมียที่ชูพ้นเกสรตัวผู้
- ผลกระทิง ผลเป็นผลสดค่อนข้างกลมและฉ่ำน้ำ ผลมีลักษณะทรงกลมหรือเป็นรูปไข่และแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ปลายผลเป็นติ่งแหลม ผลสดสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เมื่อผลแห้งจะย่นและเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลปนแดงอ่อน และภายในผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีเปลือกแข็ง (เมล็ดเมื่อนำมาบีบหรือสกัดด้วยตัวทำลายอินทรีย์จะให้น้ำมันสีเหลืองอมสีเขียวประมาณ 50-70% และมีกลิ่นที่ไม่ชวนดม หรือที่เรียกว่า Dill oil, Poppy seed oil และ Laurel oil นอกจากนี้ยังมีเรซินอีกด้วย)
สรรพคุณของกระทิง
- ทั้งต้นมีรสเมาและฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย (ทั้งต้น)
- ดอกมีรสหอมเย็น ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาการการเต้นของหัวใจผิดปกติ และใช้ปรุงเป็นยาหอม (ดอก, ดอกและใบ)
- ดอกใช้เป็นยาชูกำลัง (ดอก)
- ใบมีรสเมาเย็น ช่วยแก้อาการตาแดง ตาฝ้า ตามัว และใช้ล้างตา โดยใช้ใบตำกับน้ำสะอาดล้างตา (ใบ)
- ยางมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน (ยาง)
- ยางจากต้นและเปลือกต้นใช้เป็นยาพอกทรวงอกแก้วัณโรคปอด (ยาง)
- ยางมีฤทธิ์เป็นยาถ่าย ยาระบายอย่างรุนแรง (ยาง)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ยาง)
- น้ำคั้นจากใบใช้เป็นยาฝาดสมานภายนอก ใช้กับโรคริดสีดวงทวาร (ใบ)
- น้ำมันจากเมล็ดที่ทำให้บริสุทธิ์ใช้กินแก้โรคหนองใน (น้ำมันจากเมล็ดบริสุทธิ์)
- เปลือกต้นใช้ต้มเป็นยาขับปัสสาวะในโรคหนองใน (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติและช่วยแก้อาการปวดประจำเดือนของสตรี (ดอกและใบ)
- เปลือกต้นใช้ทำเป็นพลาสเตอร์ปิดแผล (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาแผลสด ห้ามเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้คัน (เปลือกต้น)
- ยางจากต้นและเปลือกใช้ภายนอกสำหรับล้างแผลอักเสบเรื้อรัง (ยาง)
- เปลือกต้นใช้ชำระล้างแผล (เปลือกต้น) รากใช้เป็นยาล้างแผล (ราก)
- ต้นและเปลือกต้นให้ยางใช้สำหรับทาแผล เป็นยาสมานแผลและกัดฝ้า (เปลือกต้น, ยาง)
- ช่วยแก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้เหา และช่วยสมานแผล (น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยรักษาโรคเรื้อน (เปลือกต้น, น้ำมันจากเมล็ด)
- น้ำมันจากเมล็ดใช้แก้หิดและกลากเกลื้อน (น้ำมันจากเมล็ด)
- รากช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ราก) เปลือกต้นช่วยแก้อาการฟกช้ำดำเขียว (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการบวม (เปลือกต้น)
- รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดบวมเคล็ดขัดยอก (ราก) ส่วนเมล็ด (น้ำมัน) มีรสเมาร้อนและมีน้ำมัน ใช้สำหรับถูนวดแก้อาการปวดข้อ แก้อาการเคล็ดขัดยอก แก้บวมได้ (น้ำมันจากเมล็ด)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ปวดตามแข้งตามขาเนื่องจากลมชื้น (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดหลังอันเนื่องมาจากไตพร่อง (ราก)
- ชวยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ราก)
วิธีการใช้ : ใบ เปลือกต้น ราก ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-15 กรัม ส่วนรากสดให้ใช้ครั้งละ 20-30 กรัม ถ้าใช้ภายในให้นำมาต้มกับน้ำดื่ม หากใช้ภายนอกเพื่อรักษาแผลสดห้ามเลือด แก้เคล็ดขัดยอก อาการปวดบวม ให้ใช้ตามที่ต้องการ
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรกระทิง
- ยาจากสมุนไพรกระทิงมีพิษ เวลาใช้ต้องระมัดระวัง
- ยางจากต้นกระทิงมีพิษ มีฤทธิ์ทำให้อาเจียนและออกฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างรุนแรง
- ใบกระทิงมีสาร Saponin และสารเมื่อละลายน้ำแล้วจะมีสาร Hydrocyanic acid ออกมา จึงทำให้เป็นพิษต่อมนุษย์และปลา
- หากนำผลของกระทิงไปสกัดด้วยแอลกอฮอล์ 60% จะทำให้สารที่ได้มาไม่เป็นพิษ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกระทิง
- สารสกัดชั้นน้ำและชั้นเมทานอลมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ HIV-1 และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase
- สารสกัดจากเปลือกรากมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย
- สาร Calophyllolide ซึ่งเป็นสารจำพวก Lactone ที่แยกได้จากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการลดการอักเสบ[7]
- สารสกัดและสารที่แยกได้จากเปลือกรากของกระทิงมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจำพวกแกรมบวก และสารจำพวก Coumarin ที่ได้จากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการยับยั้ง Retrovirus หลายชนิด[7]
- สารจากต้นกระทิงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นการทำงานของ Phagocyte
- ฤทธิ์ในการต้านเชื้อ HIV สารคูมาริน 2 ชนิด ที่พบในใบและกิ่งของต้นกระทิง คือ inophyllum B และ P มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ reverse transcriptase ของ HIV-1
ประโยชน์ของกระทิง
- ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาเบื่อปลาได้
- น้ำมันจากเมล็ดสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรุงเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และใช้ทำสบู่ได้
- น้ำมันจากเมล็ดนำมาใช้ผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้
- ยางจากต้นและเปลือกต้นใช้แต่งกลิ่น (ไม่ได้ระบุว่าแต่งกลิ่นอะไร)
- นิยมปลูกต้นกระทิงเพื่อเป็นไม้ให้ร่มเงา ชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ปลูกได้ตั้งแต่ชายทะเลถึงบนเขาสูง หรือจะปลูกไว้ในกระถางก็ได้ เนื่องจากเป็นไม้ที่เจริญเติบโตช้า (ไม่ควรปลูกไว้ใกล้บริเวณอาคาร เพราะต้นกระทิงระบบรากมีความแข็งแรง อาจทำให้เกิดความเสียหายกับตัวอาคารได้) ใบไม่หลุดร่วงง่ายและมันเป็นเงาสวยงาม ทนดินเค็ม แสงแดดจัด และลมแรงได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังไม่มีโรคและแมลงมารบกวน สามารถควบคุมการออกได้ด้วยการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง
- เนื้อไม้กระทิงสามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน ทำตู้ ไม้หมอนรถไฟ เครื่องมือเกษตรกรรม เช่น แอก ฯลฯ หรือใช้ทำเรือ และกระดูกงูเรือได้