ต้นกฤษณา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 18-30 เมตร วัดขนาดรอบลำต้นได้ความยาวประมาณ 1.5-1.8 เมตร ลักษณะของต้นเป็นทรงพุ่มเจดีย์ต่ำ ๆ หรือเป็นรูปกรวย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นเรียบมีสีเทาอมขาว เปลือกมีความหนาประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เมื่ออายุมาก ๆ เปลือกนอกจะแตกเป็นร่องยาวตื้น ๆ ส่วนเปลือกด้านในจะมีสีขาวอมเหลือง ต้นมีรูระบายอากาศสีน้ำตาลอ่อนอยู่ทั่วไป ตามกิ่งอ่อนจะมีขนสีขาวปกคลุมอยู่ มักมีพูพอนที่โคนต้นเมื่อมีอายุมาก ต้นกฤษณาชอบขึ้นในที่ชุ่มชื้น จึงมักพบได้ทั่วไปตามป่าดงดิบทั้งชื้นและแล้ง หรือที่ราบใกล้กับแม่น้ำลำธาร โดยธรรมชาติต้นกฤษณาจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สำหรับการปลูกกฤษณาและการขยายพันธุ์ที่นิยมทำในปัจจุบันคือการขุดกล้าไม้จากบริเวณต้นแม่มาปลูกในเรือนเพาะชำ จนกล้าไม้มีอายุได้ 1 ปีจึงค่อยย้ายไปปลูกในแปลง ส่วนวิธีอื่น ๆ นอกจากนี้ก็คือ การตอนกิ่งและการปักชำ
ไม้กฤษณา ลักษณะของเนื้อไม้กฤษณาจะมีทั้งแบบเนื้อไม้ปกติและแบบเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันกฤษณา โดยเนื้อไม้ปกติจะมีสีขาวนวลเมื่อตัดใหม่ ๆ และต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เนื้อไม้เป็นเสี้ยนตรง หยาบปานกลาง เลื่อยได้ง่าย ขัดเงาได้ไม่ดี ไม่ค่อยทนทานนัก เมื่อนำมาแปรรูปเสร็จก็ควรรีบกองผึ่งให้แห้งโดยเร็ว ส่วนเนื้อไม้หอมที่มีน้ำมันจะมีสีดำ หนักและจมน้ำได้ ซึ่งคุณภาพของเนื้อไม้ชนิดนี้จะขึ้นอยู่กับปริมาณของน้ำมันภายในเซลล์ต่าง ๆ ของเนื้อไม้ นอกจากนี้คุณภาพของไม้กฤษณายังสามารถแบ่งออกเป็น 4 เกรด ได้แก่
- เกรด 1 หรือที่เรียกว่า “ไม้ลูกแก่น” ส่วนต่างประเทศจะเรียกว่า “True agaru” เกรดนี้จะมีน้ำมันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วเนื้อไม้ ทำให้เนื้อไม้มีสีดำ มีน้ำหนักเป็น 1.01 เท่าของน้ำหรือหนักกว่าจึงทำให้จมน้ำได้ มีกลิ่นหอมคล้ายกับกลิ่นจันทน์หิมาลัยและอำพันขี้ปลา เมื่อนำมาเผาไฟจะให้เปลวไฟโชติช่วงและมีกลิ่นหอม (ราคา 15,000-20,000 บาท/กิโลกรัม)
- เกรด 2 เกรดนี้จะมีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา ต่างประเทศจะเรียกว่า “Dhum”โดยสีเนื้อไม้จะจางออกน้ำตาล และมีน้ำหนักเบากว่าน้ำ มีกลิ่นหอมเหมือนน้ำมันดอกยี่สุ่น (ราคา 8,000-10,000 บาท/กิโลกรัม)
- เกรด 3 มีน้ำมันและกลิ่นหอมรองลงมา มีน้ำหนักเบากว่าน้ำ หรือมีน้ำหนักเป็น 0.62 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 1,000-1,500 บาท/กิโลกรัม)
- เกรด 4 หรืออาจเรียกว่า “ไม้ปาก” เกรดนี้จะมีกลิ่นหอมและน้ำมันสะสมอยู่น้อย มีน้ำหนักเป็น 0.39 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำ (ราคา 400-600 บาท/กิโลกรัม)
- ส่วนเนื้อไม้ปกติที่ไม่มีน้ำมันสะสมอยู่เลย จะมีน้ำหนักเพียง 0.3 เท่าของน้ำ จึงทำให้ลอยน้ำเช่นเดียวกัน
- น้ำมันกฤษณา องค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยจากกฤษณาจะประกอบไปด้วยสารที่เป็นยางเหนียวหรือเรซิน (Resin) อยู่มาก ส่วนสารที่ทำให้เกิดกลิ่นหอม คือ Sesquiterpene alcohol ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด คือ Agarospirol, -Agarofuran, Agaro และ Dihydroagarofuran[2]
- ใบกฤษณา มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี มีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ปลายใบเป็นติ่งแหลม ส่วนโคนใบมน ใบเป็นสีเขียว ขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา เรียบและเกลี้ยง มีขนขึ้นประปรายอยู่ตามเส้นใบด้านล่าง ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.7 เซนติเมตร
- ดอกกฤษณา ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ดอกมีสีเขียวอมสีเหลือง กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ มีปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ติดทน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้อยู่ 10 ก้าน
- ผลกฤษณา ลักษณะของผลเป็นรูปกลมรี ผลยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีเส้นแคบตามยาวของผล ผิวของผลมีลักษณะขรุขระเป็นลายสีเขียว และมีขนละเอียดสั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่ขึ้น ผลเมื่อแก่จะแตกและอ้าออก ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด มีสีน้ำตาลเข้ม ลักษณะกลมรี ขนาดประมาณ 5-6 มิลลิเมตร มีหางเมล็ดสีส้มหรือสีแดง ปกคลุมไปด้วยขนสั้นนิ่มสีแดงอมน้ำตาล โดยผลจะเริ่มแก่และแตกอ้าออกในช่วงเดือนสิงหาคม
คุณภาพของไม้กฤษณา
ชาวบ้านอาจเรียกชื่อของไม้กฤษณาแตกต่างกันออกไปได้ตามคุณภาพของไม้หอม เช่น “ไม้ลูกแก่น” (เกิดจากการเจาะไชของแมลงจนเกิดเป็นแก่นไม้เนื้อแข็งสีดำเป็นมัน) จัดเป็นไม้หอมชั้นยอดและมีราคาแพงมาก ส่วนไม้หอมที่มีราคาสูงรองลงมาก็คือ “ไม้พุดซ้อน” (เกิดจากแมลงเจาะไชราก), “ไม้ลำเสา” (เกิดจากแมลงเจาะไชยอดถึงโคนต้น), “ไม้มะเฟือง” (เกิดจากแมลงเจาะไชขวางลำต้น), “ไม้เสี้ยนตาล” (มีเสี้ยนสีดำกับสีขาวผสมกันอยู่) ชนิดนี้ก็มีราคาสูงเช่นกัน[2]
นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าตามลักษณะการเกิดอีกด้วย เช่น “ไม้ปากกระโถน” (เกิดจากเซลล์ของปุ่มไม้ตามลำต้นซึ่งเสื่อมสภาพกลายเป็นแอ่งขังน้ำฝน), “ไม้ปากขวาง” (เกิดจากการใช้ขวานฟันแล้วทิ้งแผลไว้ 3 ปี จนมีสีเข้มมากรอบรอยฟัน หากทิ้งไว้นานถึง 100 ปี จะมีสีดำสนิทและถือเป็นไม้เกรดหนึ่ง), “ไม้ขนาบน้ำ” (เกิดจากการฉีกขาดของง่ามไม้)[2]
ไม้กฤษณา ชนิดที่ดีที่สุดในโลก คือ “กฤษณาจากบ้านนา” (Agillah Bannah) ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในจังหวัดนครนายก และพบมากในเขตกัมพูชา แต่ในปัจจุบันกฤษณาที่มีคุณภาพดีที่สุดจะได้จากเขาใหญ่[2]
ส่วนไม้กฤษณาที่คุณภาพต่ำ ได้แก่ “ไม้ตกหิน” (เนื้อเหลืองอ่อนคล้ายไม้ผุ), “ไม้ตกตะเคียน” (เนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลใต้รอยฟัน หากทิ้งไว้ประมาณ 6-7 เดือน จะมีสีเหมือนไม้ตะเคียน), “ไม้กระทิด” (ลักษณะเหมือนไม้ตกตะเคียน แต่สีของไม้จะเหมือนไม้กระทิด), “ไม้ตกฟาก” (ถูกไม้อื่นล้มทับจนเกิดแผลภายนอก) เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้สามารถนำไปต้มกลั่นทำเป็นน้ำหอมได้[2]
สรรพคุณของกฤษณา
- ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เนื้อไม้)
- ช่วยบำรุงกำลัง (เนื้อไม้)
- ไม้ลูกแก่น เมื่อนำมาใช้เผาจนเกิดกลิ่นหอม ใช้สูดดมจะช่วยทำให้เกิดกำลังวังชา (ไม้ลูกแก่น)
- ช่วยบำรุงธาตุ คุมธาตุในร่างกาย (เนื้อไม้)
- ช่วยบำรุงโลหิต (เนื้อไม้)
- เนื้อไม้มีรสขม หอม ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (อาการหน้าเขียวตาเขียว) (เนื้อไม้, น้ํามันกฤษณา)
- ช่วยบำรุงสมอง ใช้ระงับอารมณ์โมโหดุร้าย ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้มีอารมณ์สุนทรีย์ (ชิ้นไม้)
- ใช้รับประทานช่วยทำให้หัวใจชุ่มชื่น (เนื้อไม้)
- น้ำจากใบสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคเบาหวานได้ (ใบ)
- ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ (ตำรายาจีน)[2]
- ช่วยแก้ลมวิงเวียนศีรษะหน้ามืด ใช้ปรุงเป็นยาหอมแก้อาการหน้ามืดวิงเวียน (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ตำรายาจีน)
- ช่วยแก้หอบหืด (ตำรายาจีน)
- ช่วยแก้ไข้ต่าง ๆ (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้ไข้เพื่อเสมหะและลม (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยรักษาโรคมาลาเรีย (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ใช้ต้มดื่มแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้เสมหะ ด้วยการนำมาผสมกับยาหอมใช้รับประทาน หรือนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม ในกรณีที่มีอาการกระหายน้ำมาก (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้ลมซาง ใช้สุมศีรษะแก้ลมซางในเด็ก (เนื้อไม้)
- น้ำจากใบใช้เป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ (ใบ)
- เชื่อว่ากลิ่นหอมของควันที่ได้จากการนำชิ้นไม้กฤษณามาจุดจะช่วยรักษาโรคบางอย่างได้ (ชิ้นไม้)
- ช่วยรักษาอาการปวดแน่นหน้าอก (ตำรายาจีน)[
- ช่วยบำรุงตับและปอด ทำให้ตับและปอดเป็นปกติ (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เนื้อไม้)
- น้ำมันจากเมล็ด สามารถนำมาใช้รักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนังได้
*ข้อมูลจากเว็บไซด์ https://medthai.com