กำลังเสือโคร่ง:ไม้มงคลประจำจังหวัดน่าน

ลักษณะของกำลังเสือโคร่ง

  • ต้นกำลังเสือโคร่ง จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาขนาดใหญ่ มีลำต้นสีเขียวอมเทาถึงสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมดำ ลำต้นกลมหรือเป็นเหลี่ยม ไม่มีช่องอากาศ ลำต้นมีหนามตามง่ามใบ มีมือจับอันเดียวและมีขน สามารถพบขึ้นได้ทั่วไปตามป่าดงดิบแล้ง ป่าละเมาะ และป่าโปร่งทั่ว ๆ ไป

ต้นกําลังเสือโคร่งต้นกำลังเสือโคร่ง
สมุนไพรกำลังเสือโค่รง

  • ใบกำลังเสือโคร่ง มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปสีเหลี่ยมข้าวหลามตัดถึงค่อนข้างกลม รูปใบหอกถึงรูปไข่ โคนใบแหลมถึงตัดหรือเว้าเล็กน้อยคล้ายรูปหัวใจ ส่วนปลายใบแหลมหรือมนเป็นติ่ง ใบมีความกว้างประมาณ 1-5.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-11 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเกลี้ยง หรือมีขนสั้นตามเส้นกลางใบและตามโคนเส้นแขนงใบ มีเส้นตามยาวของใบ 3-5 เส้น ส่วนเส้นกลางใบด้านบนจะเป็นร่อง ด้านล่างนูน หูใบเป็นแนวนูนเกลี้ยง หรืออาจมีขน และก้านใบมีความประมาณ 1-10 มิลลิเมตร

ใบกำลังเสือโคร่ง

  • ดอกกำลังเสือโคร่ง ออกดอกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ยาวประมาณ 5-20 มิลลิเมตร ก้านช่อดอกสั้นหรือยาวได้ถึง 9 มิลลิเมตร ดอกมีจำนวนมาก ส่วนก้านดอกยาว 0-2.5 มิลลิเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ลักษณะคล้ายรูปไข่ถึงกลม มีความยาวประมาณ 0.9-1.7 มิลลิเมตร ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขน ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบดอกมีสีเขียวถึงสีขาว มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2.3-3.6 มิลลิเมตร โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก หลอดยาวกว่าแฉก 2 เท่า ด้านนอกเกลี้ยงมีขนหรือเป็นตุ่ม ๆ ส่วนด้านในมักมีขนเป็นวงอยู่ตรงปากหลอด นอกนั้นเกลี้ยง แฉกหนา มีเกสรตัวผู้อยู่ 5 ก้าน ติดอยู่ใกล้ปากหลอด ยาวยื่นออกมาพ้นปากหลอด ก้านเกสรมีความยาวประมาณ 0.2-0.6 มิลลิเมตร ส่วนอับเรณูเป็นรูปไข่ มีความยาวประมาณ 0.6-0.9 มิลลิเมตร มีขนแผง และมักมีติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีอยู่ 2 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก และยอดเกสรตัวเมียเป็นตุ่ม

ดอกกำลังเสือโคร่ง

  • ผลกำลังเสือโคร่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีส้มหรือแดง เปลือกผลบางเรียบ ในผลมีเมล็ด 1-2 เมล็ด

ผลกำลังเสือโคร่ง

สรรพคุณของกําลังเสือโคร่ง

  1. แก่นกำลังเสือโคร่งใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง (แก่น)
  2. ช่วยบำรุงร่างกาย ด้วยการใช้ลำต้นผสมกับผลพริกไทยและหัวกระเทียม แล้วนำมาต้มดื่ม (ลำต้น)
  3. ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (แก่น)
  4. แก่นช่วยแก้กระษัย หรือจะใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  5. ช่วยแก้โลหิตเป็นพิษในการคลอดบุตร บาดทะยักปากมดลูก และสันนิบาตหน้าเพลิง (ลำต้น)
  6. ช่วยรักษาอาการปอดพิการ (ลำต้น)
  7. ช่วยแก้พิษตานซาง (ลำต้น)
  8. แก่นช่วยดับพิษไข้ (แก่น)
  9. ช่วยแก้อาการไอ (ลำต้น)
  10. ผลใช้เป็นยาถ่ายสำหรับเด็ก (ผล)
  11. ช่วยขับพยาธิในท้อง (ลำต้น)
  12. ช่วยแก้เถาดานในท้อง (ลำต้น)
  13. ช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ (ราก)
  14. ช่วยแก้กามโรค (ลำต้น)
  15. ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (แก่น)
  16. ช่วยแก้ไตพิการ (แก่น)
  17. ใบช่วยรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)
  18. รากใช้ตำพอกแก้ฝี (ราก)
  19. ช่วยดับพิษในข้อกระดูกและเส้นเอ็น (ลำต้น)
  20. ช่วยแก้อัมพาต (ใบ)
  21. ช่วยแก้เส้นเอ็นพิการโดยใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  22. ช่วยแก้เหน็บชา แก้เข้าข้อ โดยใช้เปลือกต้น แก่น และลำต้น นำมาต้มดื่มแก้อาการ (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)
  23. ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยใช้แก่นนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม หรือจะใช้เปลือกต้น แก่น และใบ นำมาต้มดื่ม (เปลือกต้น, แก่น, ใบ)

ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com