กุยช่าย มีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน คือ กุยช่ายเขียวและกุยช่ายขาว ซึ่งลักษณะจะไม่แตกต่างกัน แต่จะแตกต่างในเรื่องของกระบวนการปลูกและการดูแลรักษา ในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย จีน อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะมีการปลูกกุยช่ายกันอยู่ 2 พันธุ์ นั่นก็คือพันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่ว ๆไปและพันธุ์สีเขียวใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม
ลักษณะของกุยช่าย
- ต้นกุยช่าย จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีความสูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร มีเหง้าเล็กและแตกกอ
- ใบกุยช่าย ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน ใบแบน ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ที่โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน
- ดอกกุยช่าย หรือ ดอกไม้กวาด ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีสีขาว มีกลิ่นหอม ลักษณะช่อดอกเป็นแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตันยาวประมาณ 40-45 เซนติเมตร (ยาวกว่าใบ) ออกดอกในระดับเดียวกันที่ปลายของก้านช่อดอก ด้านดอกมีความเท่ากัน และมีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นก็จะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอกมีสีขาว 6 กลีบ มีความยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร โคนติดกัน ปลายแยก ที่กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อน ๆ จากโคนกลีบไปหาปลาย เมื่อดอกบานจะกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 6 ก้านอยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก และเกสรตัวเมียอีก 1 ก้าน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
- ผลกุยช่าย ลักษณะของผลเป็นผลกลม มีความกว้างและยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ภายในมีช่อง 3 ช่องและมีผนังตื้น ๆ ผลเมื่อแก่จะแตกตามตะเข็ม ในผลมีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด
- เมล็ดกุยช่าย มีลักษณะขรุขระสีน้ำตาลแบน
สรรพคุณของกุยช่าย
- ช่วยบำรุงกระดูก เนื่องจากใบกุยช่ายมีธาตุฟอสฟอรัสสูง (ใบ)
- ช่วยบำรุงกำหนัด กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้ปัญหาการหลั่งเร็วในเพศชาย ไร้สมรรถภาพทางเพศ เนื่องจากกลิ่นฉุนของน้ำมันหอมระเหยของกุยช่ายจะคล้ายกับกลิ่นของกระเทียม เพราะมีสารประกอบจำพวกกำมะถัน ซึ่งมักจะมีสรรพคุณช่วยในเรื่องเพศ (ใบ)
- น้ำมันหอมระเหยจากผักกุยช่ายมีสารอัลลิซิน (Alllicin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด (ใบ)
- ช่วยป้องกันมะเร็ง ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง (นิตยสารครัว) (ใบ)
- ช่วยลดระดับความดัน รักษาโรคความดันโลหิตสูง (นิตยสารครัว) (ใบ)
- สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและวัณโรค ให้นำใบของต้นกุยช่ายมาต้มกับหอยน้ำจืดและรับประทานทุกวัน จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคหูน้ำหนวก ด้วยการใช้น้ำที่คั้นได้จากใบสดนำมาทาในรูหู (ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้หวัด (ใบ)
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลได้เป็นอย่างดี (ราก)
- เมล็ดช่วยฆ่าแมลงกินฟัน ด้วยการใช้เมล็ดคั่วเกรียมนำมาบดให้ละเอียด แล้วผสมกับน้ำยางชุบสำลี ใช้อุดฟันที่เป็นรูทิ้งไว้ 1-2 วัน จะช่วยฆ่าแมลงที่กินอยู่ในรูฟันให้ตายได้ (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาเจียน ด้วยการใช้ต้นกุยช่ายนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย หรือจะผสมกับน้ำขิงสักเล็กน้อย อุ่นให้ร้อนแล้วนำมารับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก, ใบ)
- รากสรรพคุณมีฤทธิ์ในการช่วยห้ามเหงื่อ (ราก)
- ช่วยรักษาอาการหวัด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการแน่นหน้าอก (ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย ด้วยการใช้ต้นกุยช่ายนำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วนำมารับประทาน (ต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลมในกระเพาะ ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม (ใบ)
- ช่วยแก้อาการท้องผูก เนื่องจากกุยช่ายมีเส้นใยอาหารสูงมาก จึงช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวได้เป็นอย่างดี (ใบ)
- ใบใช้ทาท้องเด็กช่วยแก้อาการท้องอืด (ใบ)
- เมล็ดใช้รับประทานช่วยขับพยาธิเส้นด้ายหรือพยาธิแส้ม้าได้ (เมล็ด)
- ช่วยรักษาแผลริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้ริดสีดวงหด ด้วยการใช้ใบสดล้างสะอาดต้มกับน้ำร้อน แล้วนั่งเหนือภาชนะเพื่อให้ไอรมจนน้ำอุ่น หรือจะใช้น้ำที่ต้มล้างที่แผลวันละ 2 ครั้ง หรือจะใช้ใบนำมาหั่นเป็นฝอยคั่วให้ร้อน ใช้ผ้าห่อมาประคบบริเวณที่เป็นจะช่วยทำให้หัวริดสีดวงหดเข้าไปได้ (ใบ)
- ต้นและใบสดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคนิ่ว ด้วยการใช้ใบสดและต้นนำมาตำให้ละเอียดผสมกับสุราและใส่สารส้มเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำมารับประทาน 1 ถ้วยชา (ต้น, ใบ)
- ช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ด้วยการใช้เมล็ดกุยช่ายแห้งนำมาต้มรับประทาน หรือจะทำเป็นยาเม็ดไว้รับประทานแก้อาการก็ได้เช่นกัน (เมล็ด)
- สรรพคุณกุยช่ายช่วยแก้อาการปัสสาวะขัด (ขัดเบา) (ราก)
- เมล็ดใช้รับประทานร่วมกับสุรา ใช้เป็นยาขับโลหิตประจำเดือนที่เป็นลิ่มเป็นก้อนได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
- ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ด้วยการใช้ต้นกุยช่าย น้ำตาลอ้อย ไข่ไก่ นำมาต้มรับประทาน (ต้น)
- ช่วยแก้โรคหนองในได้ดี ด้วยการใช้ใบสดและต้นนำมาตำให้ละเอียด ผสมกับสุราและใส่สารส้มเล็กน้อย แล้วกรองเอาแต่น้ำมารับประทาน 1 ถ้วยชา (ต้น, ใบ)
- กุยช่ายมีสรรพคุณช่วยบำรุงไต (ใบ)
- ใบกุยช่ายมีสรรพคุณช่วยแก้ลมพิษ (ใบ)
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยหรือแมงป่องกัด (ใบ)
- ช่วยแก้อาการห้อเลือดบริเวณท้อง ด้วยการรับประทานน้ำคั้นจากกุยช่าย (ใบ)
- ช่วยแก้อาการฟกช้ำดำเขียว ห้อเลือด และแก้ปวด ด้วยการใช้ใบสดตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกบริเวณที่ฟกช้ำ หรือจะผสมกับดินสอพองในอัตราส่วน ใบกุยช่าย 3 ส่วน / ดินสอพอง 1 ส่วน นำมาบดผสมกันให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเหนียวข้น แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้งจนกว่าจะหาย (ใบ)
- ใบใช้ตำผสมกับเหล้าเล็กน้อย นำมารับประทานจะช่วยแก้อาการช้ำใน กระจายเลือดไม่ให้คั่งได้ (ใบ)
- ช่วยรักษาแผลที่หนองเรื้อรัง ด้วยการใช้ใบสดล้างสะอาดมาพอกบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)
- เมล็ดใช้ทำเป็นยาฆ่าสัตว์ต่าง ๆ ให้ตายได้ ด้วยการนำเมล็ดไปเผาไฟเอาควันรมเข้าในรู (เมล็ด)
- ช่วยแก้แมลงหรือตัวเห็บ ตัวหมัดเข้าหู ด้วยการใช้น้ำคั้นจากกุยช่ายนำมาหยอดเข้าไปในรูหู จะช่วยทำให้แมลงหรือเห็บไต่ออกมาเอง (ใบ)
- ช่วยบำรุงน้ำนมและขับน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร การที่แม่ลูกอ่อนรับประทานแกงเลียงใส่ผักกุยช่ายจะช่วยบำรุงน้ำนมแม่ได้เป็นอย่างดี (ต้น, ใบ)
- ต้นและใบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ (Antiseptic) และช่วยลดการอักเสบ (ต้น, ใบ)
- น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ Flavobacterium columnaris ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปลานิลตาย และเมื่อนำน้ำมันชนิดนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลาก็จะช่วยลดการตายของปลานิลจากการติดเชื้อชนิดนี้ได้ (น้ำมันสกัดจากต้น)
- สำหรับสตรีที่กำลังตั้งครรภ์แล้วมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือเบื่ออาหาร ให้ใช้น้ำคั้นจากกุยช่าย 1/2 ถ้วย / น้ำขิง 1/2 ถ้วย นำมาผสมกันแล้วนำไปต้มจนเดือด เติมน้ำตาลตามใจชอบแล้วนำมาดื่ม (ใบ)
- สำหรับสตรีหลังคลอดบุตรใหม่ มักมีอาการหมดสติ สามารถแก้ด้วยการใช้ใบกุยช่ายสดนำมาสับละเอียด ใส่ในเหล้าที่ต้มเดือดแล้วกรอกเข้าไปในปาก แต่ถ้ามีอาการวิงเวียนศีรษะก็ใช้ใบกุยช่ายสับละเอียดใส่ขวดเติมน้ำส้มสายชูร้อน ๆ ลงไปแล้วนำมาใช้สูดดมแก้อาการวิงเวียนได้ (ใบ)
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของกุยช่าย
- น้ำคั้นจากต้นกุยช่ายที่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อฉีดเข้าไปในเส้นเลือดของหนูทดลอง (ในปริมาณ 0.1-0.5 มิลลิกรัม / 10 กรัม) จะทำให้เกิดอาการเกร็งและเกิดอาการคลุ้มคลั่ง หลังจากนั้นก็สลบ และทำให้ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวหรือสีน้ำเงินเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน หลังจากนั้นครึ่งชั่วโมงหนูก็ตาย
- เมื่อใช้กับกระต่าย จะทำให้ความดันโลหิตลดลงเล็กน้อย และในระยะแรกจะมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเต้นของหัวใจ หลังจากนั้นจะมีฤทธิ์กระตุ้น หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นในช่วงที่หัวใจคลายตัว
- มีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดเพียงเล็กต่อขาหลังของกบและกระต่าย
ประโยชน์ของกุยช่าย
- ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ผักกุยช่าย มีฤทธิ์ร้อน ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายได้ มันจึงเหมาะอย่างมากที่จะรับประทานในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูฝนที่มีอากาศชื้น
- ช่วยบำรุงและรักษาสายตา เนื่องจากผักกุยช่ายมีวิตามินเอที่ช่วยในการมองเห็น
- ช่วยบำรุงกระดูก เนื่องจากต้นกุยช่ายมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
- กุยช่ายมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงหรือเกล็ดเลือดต่ำ รักษาภาวะเม็ดเลือดแดงต่ำ แก้อาการอ่อนเพลีย (พบได้บ่อยในผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะพักฟื้นหลังการเจ็บป่วย จากการผ่าตัดหรือคลอดบุตร) เม็ดเลือดแดงประกอบด้วยฮีโมโกลบินที่ทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย
- ประโยชน์ของใบกุยช่าย ช่วยปรุงแต่งรสอาหารให้อร่อยมากยิ่งขึ้น
- กุยช่ายนิยมใช้รับประทานเป็นอาหาร ด้วยการใช้ดอกนำมาผัดกับตับหมู หรือจะใช้ใบสดรับประทานกับลาบหรือผัดไทยก็ได้ นอกจากนี้ยังใช้ใบนำมาทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วยครับ
คุณค่าทางโภชนาการของดอกกุยช่าย ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 38 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 6.3 กรัม
- เส้นใย 3.4 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- เบตาแคโรทีน 152.92 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 13 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 31 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.6 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 62 มิลลิกรัม
คุณค่าทางโภชนาการของต้นกุยช่าย ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 28 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม
- เส้นใย 3.9 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- เบตาแคโรทีน 136.79 ไมโครกรีม
- ธาตุแคลเซียม 98 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม
ข้อควรระวังในการรับประทานกุยช่าย
- การรับประทานกุยช่ายในปริมาณมากเกินไปอาจจะทำให้ธาตุในร่างกายร้อนและทำให้เป็นร้อนใน
- ไม่ควรรับประทานกุยช่ายหลังจากการดื่มเหล้า เพราะจะทำให้ธาตุในร่างกายร้อนเข้าไปอีก
- สำหรับผู้ที่ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ค่อยดี ไม่ควรรับประทานกุยช่ายในปริมาณมาก เพราะกุยช่ายมีเส้นใยมากเกินไปทำให้ย่อยยาก ถ้ารับประทานมากเส้นใยจะกระตุ้นลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้ท้องเสีย แนะนำว่าให้รับประทานในปริมาณที่เหมาะสมจะดีกว่า
- ไม่ควรเลือกรับประทานกุยช่ายแก่ เพราะกุยช่ายยิ่งแก่มากเท่าไหร่ยิ่งมีปริมาณเส้นใยมากและเหนียวมาก ทำให้ยิ่งย่อยมากยิ่งขึ้น
*ภาพและข้อมูลจาก https://medthai.com