ชมพู่น้ำดอกไม้

  • ต้นชมพู่น้ำดอกไม้ เป็นชมพู่พันธุ์ดั้งเดิมของไทย มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคอินโด-มาลายัน ในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาค โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง เช่นเดียวกับชมพู่แดง มีความสูงของต้นประมาณ 10 เมตร เปลือกต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีความชื้นพอเหมาะ ชอบแสงแดดส่องถึงแบบเต็มวัน ในปัจจุบันมีสายพันธุ์หลักอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่มาจากประเทศไทยผลจะเป็นสีเขียวอ่อน และพันธุ์ที่มาจากประเทศมาเลเซียผลจะเป็นสีแดง โดยจะให้ผลหลังการปลูกประมาณ 2 ปี มักขึ้นตามป่าราบทั่วไป พบปลูกกันบ้างตามสวนเพื่อรับประทานหรือขายเป็นสินค้า

ต้นชมพู่น้ำดอกไม้

  • ใบชมพู่น้ำดอกไม้ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอกเรียวยาว ปลายใบแหลมและมีติ่งแหลม โคนใบมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียวเข้ม

ใบชมพู่น้ำดอกไม้

  • ดอกชมพู่น้ำดอกไม้ ออกดอกเป็นช่อกระจะ โดยจะออกที่ปลายกิ่ง มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก กลีบดอกบางเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ฐานรองดอกมีลักษณะเป็นรูปกรวย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก

ดอกชมพู่น้ำดอกไม้

  • ผลชมพู่น้ำดอกไม้ ผลเป็นผลสดใช้รับประทานได้ ผลเป็นผลเดี่ยว มีลักษณะเกือบกลม ดูคล้ายกับลูกจันสีเหลือง ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ 4 กลีบ ภายในผลกลวง ผลมีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกนมแมว มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 80-100 กรัม ผลดิบเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สุกแล้วจะเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองทอง เนื้อด้านในบางเป็นสีขาวนวลหรือสีเขียวอ่อน ส่วนเมล็ดเป็นสีน้ำตาลและมีขนาดใหญ่ มีรสหวานหอมชื่นใจ โดยจะเริ่มออกผลในช่วงปลายฤดูหนาว (ประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน)

ผลชมพู่น้ำดอกไม้

ชมพู่น้ําดอกไม้

เมล็ดชมพู่น้ำดอกไม้

การปลูกชมพู่น้ำดอกไม้ ทำได้ด้วยการนำเมล็ดหรือกิ่งตอนลงปลูก เกลี่ยดินกลบ แล้วนำใบตองมาปิดบริเวณโคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชื้น เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ให้รดน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าเป็นกิ่งตอนให้ทำไม้ปักยึดผูกกับต้นไว้ด้วย เพื่อป้องกันการโค่นล้มจากลม ส่วนการป้องกันไม่ให้ต้นเฉา ควรนำมาปลูกใกล้บริเวณริมคลอง เนื่องจากชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ผลที่ชอบน้ำ และควรปลูกให้ห่างจากตัวบ้านประมาณ 2 เมตร ทั้งนี้ ชมพู่น้ำดอกไม้เป็นไม้ปลูกง่าย โตเร็ว สามารถให้ผลได้ภายใน 2 ปี การดูแลรักษาก็ง่าย ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง เพียงแต่ห่อผลด้วยถุงพลาสติกเพื่อป้องกันแมลง กระรอก และนกมารบกวนเท่านั้น

สรรพคุณของชมพู่น้ำดอกไม้

  1. ผลใช้ปรุงเป็นยาชูกำลัง (ผล)
  2. ผลมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (ผล)
  3. เปลือก ต้น และเมล็ด มีสรรพคุณเป็นยาแก้เบาหวาน (เปลือก, ต้น, เมล็ด)
  4. ช่วยแก้ลมปลายไข้ (ผล)
  5. ใบมีสรรพคุณเป็นยาลดไข้ (ใบ)
  6. ใบใช้เป็นยาแก้ตาอักเสบ (ใบ)
  7. ใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (เปลือก, ต้น, เมล็ด) เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ท้องร่วงได้ดี (เปลือกต้น)
  8. เมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคบิด (เมล็ด)
  9. ใบสดนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลสด (ใบ)
  10. ใบสดใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง (ใบ)
 

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชมพู่น้ำดอกไม้

  • สารสกัดจากอะซิโตนและน้ำจากเปลือกต้นของชมพู่น้ำดอกไม้มีฤทธิ์ต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Staphylococcus cohnii, Staphylococcus hominis, Staphylococcus warneri และ Yersinia enterocolitica โดยสารสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านเชื้อ คือ สารแทนนิน ที่มีปริมาณมากในสารสกัด (คิดเป็น 83% ในสารสกัดจากอะซิโตน และ 77% ในสารสกัดจากน้ำ)

ประโยชน์ของชมพู่น้ำดอกไม้

  • ผลมีสีสันสวยงามใช้รับประทานได้ มีกลิ่นหอมและมีรสหวานมาก ปัจจุบันจัดเป็นพรรณไม้หายากชนิดหนึ่ง ทำให้ผลที่ขายกันมีราคาแพง
  • เปลือกยังสามารถนำมาสกัดเป็นสารที่ให้สีน้ำตาลได้ด้วย

ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com