- ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง พบทั่วไปตามป่าชื้นที่ระดับต่ำ เป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทั่วไป และจะพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป
- ใบชะมวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม (สีน้ำเงินเข้ม) บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนก้านใบเป็นสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร
- ดอกชะมวง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกตัวผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสีเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ มีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
- ผลชะมวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้มหม่น และตามผลมีร่องตื้น ๆ ประมาณ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากและทำให้ติดฟันได้ โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
สรรพคุณของชะมวง
- ช่วยรักษาธาตุพิการ (ผล,ใบ,ดอก)
- ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)
- ช่วยถอนพิษไข้ (ราก)
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล, ใบ)
- ช่วยแก้อาการไอ (ผล, ใบ) บ้างก็ว่าเนื้อไม้ช่วยแก้อาการไอได้เช่นกัน (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)เสมหะเป็นพิษ (ราก) ช่วยขับเสมหะ (เนื้อไม้)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)
- รากช่วยแก้บิด (ราก) หรือจะใช้ผลนำมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้ดินเป็นยาแก้บิดก็ได้เช่นกัน (ผล)
- ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)
ประโยชน์ชะมวง
- ผลชะมวงสุกสีเหลืองใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน หรือจะนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้
- ยอดอ่อนหรือใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่นแจ่ว หรือนำไปใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น
- ผลและใบอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยจะมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะดัน (การรับประทานมาก ๆ จะเป็นยาระบายท้องเหมือนดอกขี้เหล็ก)
- ผลและใบแก่เมื่อนำมาหมักจะให้กรด ซึ่งนำมาใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้แกะสลักรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี
- ต้นชะมวงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ให้ร่มเงาได้ดี
- ลำต้นหรือเนื้อไม้ชะมวงสามารถนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ
- เปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
- น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง สมัยก่อนนำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงา
- ยอดอ่อนชะมวงเมื่อนำไปหมักกับจุลินทรีย์จะทำให้เกิดรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ย
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/