- ต้นชุมเห็ดเทศ จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นแนวขนานกับพื้นดิน กิ่งจะแผ่ออกทางด้านข้าง มีขนสั้นนุ่ม เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาล ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบขึ้นตามที่ชุ่มชื้น ไม่ชอบที่ร่ม สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด พรรณไม้ชนิดนี้ไม่ต้องการความเอาใจใส่ ปลูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ให้โตขึ้นเองได้ พบขึ้นได้ทั่วไปในประเทศไทย ทั้งบนที่ราบหรือบนภูเขาสูงจนถึง 1,500 เมตร
- ใบชุมเห็ดเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 8-20 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมรูปรี ปลายใบโค้งมนหรือหยัก โคนใบมนเว้าเข้าหากันเล็กน้อย โคนใบทั้งสองด้านไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นสีแดง ใบย่อยมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา หยาบและเหนียว แก่นกลางใบหนา ก้านใบรวมยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร ส่วนก้านใบประกอบยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีหูใบลักษณะเป็นรูปติ่งหู สามเหลี่ยม ยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ติดทน เมื่อนำใบมาอบให้แห้งแล้วจะเป็นสีน้ำตาลอมเขียวถึงสีน้ำตาล ส่วนผงที่ได้เป็นสีน้ำตาลอมเขียว มีกลิ่นอ่อน ๆ รสเบื่อเอียนและขมเล็กน้อย
- ดอกชุมเห็ดเทศ ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตั้ง โดยจะออกตามซอกใบและตามปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะแคบ ๆ ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองทอง มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่เกือบกลมหรือเป็นรูปช้อน ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีก้านกลีบสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้ประมาณ 9-10 ก้าน โดยมีเกสรอันยาว 2 ก้าน (ก้านเกสรหนา ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร) เกสรอันสั้น 4 ก้าน (ก้านเกสรจะยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อับเรณูยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร) และเกสรเพศผู้ที่ลดรูปอีก 4 ก้าน อับเรณูเปิดที่ปลาย รังไข่เกลี้ยง มีออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรมีขนาดเล็ก มีใบประดับเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลืองหุ้มดอกที่ยังไม่บาน ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร หลุดร่วงได้ง่าย ก้านดอกสั้น ยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในตาดอก ลักษณะเป็นรูปขอบขนาน มีความยาวไม่เท่ากัน โดยจะยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
- ผลชุมเห็ดเทศ ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปแถบ ยาว แบน และเกลี้ยงไม่มีขน ฝักมีขนาดยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีสันหรือปีกกว้าง 4 ปีก ปีกกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตรตามความยาวของฝัก ฝักมีผนังกั้น ฝักเมื่อแก่จะเป็นสีดำและแตกตามยาว ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 50-60 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดรูปสามเหลี่ยมสีดำ มีผิวขรุขระ เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร
สรรพคุณของชุมเห็ดเทศ
- รากชุมเห็ดเทศใช้ผสมยาบำรุงธาตุ (ราก)
- ใช้ใบชาชุมเห็ดเทศนำมาชงกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ (ใบ)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
- หากดื่มยาชงจากชุมเห็ดเทศเป็นประจำจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ชาชุมเห็ดเทศใช้ชงกับน้ำดื่ม สามารถช่วยลดความดันโลหิตได้ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)
- ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการใช้ใบสดหรือแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนาน 30 นาที ใช้แบ่งน้ำมาดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือจะใช้ชงเป็นชาดื่มต่างน้ำวันละ 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดเป็นปกติดีแล้วก็ให้ต้มใบยอดื่มอีก 3 สัปดาห์ ก็จะหายขาดจากโรคเบาหวาน (ใบ)
- ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ (เมล็ด)
- ช่วยแก้เส้นประสาทอักเสบ (ใบ)
- ช่วยทำให้หัวใจเต้นเป็นปกติ (ใบ, ราก, ต้น)
- เมล็ดช่วยแก้ตานซาง ถ่ายพิษตานซาง ด้วยการใช้เมล็ดแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง
- ช่วยรักษาโรคตาเหลือง (ราก)
- ช่วยแก้ดีซ่าน (ทั้งต้น)
- ช่วยแก้กษัยเส้น (ใบ, ราก, ต้น)
- ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้หืด (ใบและดอก)
- รากและทั้งต้นเป็นยาถ่ายเสมหะ (ราก, ทั้งต้น)
- ใบมีกลิ่นฉุน นำมาต้มกับน้ำใช้เป็นยาอมบ้วนปาก (ใบ)
- ใบและดอกนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาขับเสมหะในรายที่หลอดลมอักเสบ (ใบและดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องขึ้น (อาการท้องอืดท้องเฟ้อเพราะลมในกระเพาะอาหารเฟ้อขึ้น) (เมล็ด)
- เปลือกต้นเป็นยาสมานท้อง (เปลือกต้น)
- ตำรายาไทยใช้ใบและดอกเป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยกระตุ้นทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวได้ดีขึ้น (ใบอ่อนจะมีฤทธิ์มากกว่าใบแก่ และหากไม่นำใบมาคั่วเสียก่อนจะเกิดผลข้างเคียงได้ คืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เมื่อคั่วจนร้อนแล้วจะทำให้สารที่มีฤทธิ์ทำให้มีอาการอาเจียนสลายไปได้) (ใบ, ดอก)
- ใช้ใบสดหรือแห้งครั้งละ 12 ใบนำมาต้มกับน้ำพอสมควร ใช้ดื่มครั้งเดียวก่อนอาหารตอนเช้ามืดหรือช่วงก่อนนอน
- ใช้ใบนำมาชงกับน้ำเดือด 120 มิลลิลิตรเป็นเวลา 10 นาที แล้วดื่มก่อนเข้านอน
- ใช้ใบสด 12 ใบ ล้างน้ำให้สะอาด นำมาหั่นตากแห้งหรือปิ้งกับไฟให้เหลือง ก่อนนำมาต้มหรือชงกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อยแล้วดื่มครั้งเดียวให้หมด
- ใช้ใบแห้งบดเป็นผง ปั้นทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยรับประทานครั้งละ 3 เม็ด ก่อนนอนหรือเมื่อมีอาการท้องผูก
- ใช้ดอกสด 1 ช่อ นำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ช่อดอกประมาณ 1-3 ช่อ (แล้วแต่ธาตุหนักธาตุเบาของแต่ละคน) นำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นผักจิ้ม
- ส่วนยาชงจากใบที่บรรจุในซองในขนาด 3 กรัมต่อซอง ให้ใช้ครั้งละ 1-2 ซอง นำมาชงกับน้ำเดือน 120 มิลลิลิตรต่อซอง นาน 10 นาที ใช้ดื่มวันละ 1 ครั้งก่อนนอน
- ใช้เมล็ดนำมาคั่วให้เหลืองใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นชา มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ
- นอกจากนี้เปลือกต้น ราก และผลก็มีสรรพคุณเป็นยาระบายท้องเช่นกัน (เปลือกต้น, ราก, ผล) ส่วนต้น ราก ใบ ดอก และเมล็ดใช้เป็นยารักษาอาการท้องผูก (ต้น, ราก, ใบ, ดอก, เมล็ด)
- ช่วยสมานธาตุ รักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ใบ)
- เมล็ดมีกลิ่นเหม็นเบื่อ รสเอียนเล็กน้อย ใช้เป็นยาขับพยาธิในลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 3-5 กรัมนำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทานตอนท้องว่าง (เมล็ด, ต้น, ทั้งต้น) ส่วนผลหรือฝักมีรสเอียนเบื่อ ใช้เป็นยาแก้พยาธิ ขับพยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน (ผล)ส่วนใบสดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 20 กรัม) นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้น้ำคั้นจากใบผสมกับน้ำปูนใสก็เป็นยาขับพยาธิเช่นกัน (ใบ) ใช้ทั้งต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน หรือจะใช้น้ำคั้นจากทั้งต้นผสมกับกรดมะนาว (Citric acid) ดื่มก็ได้ ส่วนดอกและต้นก็เป็นยาขับพยาธิไส้เดือนได้เช่นกัน (ทั้งต้นอ่อน, ต้น, ดอก
- รากใช้เป็นยาเบื่อพยาธิ (ราก)
- ต้น ราก ใบ หรือดอก ใช้ต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาเป็นยาขับปัสสาวะ (ต้น, ราก, ใบ, ดอก)
- ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเหลือง (ราก)
- ใบใช้เป็นยาแก้สังคัง ด้วยการใช้ใบสด 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ เติมปูนแดงเล็กน้อยแล้วนำมาใช้ทา หรือจะใช้ใบชุมเห็ดเทศ 3 ใบ หัวกระเทียม 3 หัว และเกลือตัวผู้ 3 เม็ด นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (ทั้งต้น)
- รากใช้ต้มกินเป็นยารักษาตกมูกเลือด (ราก)
- ยาต้มหรือยาชงจากใบชุมเห็ดเทศ ยาต้มเข้มข้นช่วยเร่งคลอดหรือทำให้แท้ง (ใบ)
- ใช้รักษาโรคเริม (ใบ)
- เปลือกและเนื้อไม้ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย (เปลือกและเนื้อไม้)
- ใบใช้ผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกจากการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย (ใบ)
- เด็กชาวแอฟริกาที่ผิวหนังเป็นแผลจะใช้ใบนำมาตำผสมกับน้ำอาบและบางครั้งก็ใช้อาบเด็กแรกเกิด (ใบ)
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนังต่าง ๆ รักษากลากเกลื้อน ผดผื่นคัน ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน หรือมีอาการคันบริเวณหนังศีรษะ โดยมีวิธีใช้อยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น (ใบ)
- ให้นำใบมาต้มกับน้ำ แล้วใช้น้ำที่ต้มได้มาล้างผิวหนังบริเวณที่เป็น
- ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดหรือขยี้ใช้ถูทาบริเวณที่เป็นนาน ๆ และบ่อย ๆ
- ใช้ใบประมาณ 3-4 ใบนำมาตำให้ละเอียด เติมน้ำมะนาวเล็กน้อย แล้วนำมาใช้ทาวันละ 2-3 ครั้ง
- ใช้ใบสดประมาณ 4-5 ใบนำมาตำรวมกับกระเทียม 4-5 กลีบ แล้วเติมปูนแดงเล็กน้อย ตำผสมกันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นกลากหรือโรคผิวหนัง (ให้ขูดผิวบริเวณที่เป็นด้วยไม้ไผ่ที่ฆ่าเชื้อแล้วให้แดงก่อนทายา) โดยใช้ทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าจะหาย และเมื่อหายแล้วก็ให้ทาต่อไปอีก 1 สัปดาห์
- ใช้ใบสดมาตำแช่กับเหล้า แล้วเอาส่วนของเหล้านำมาทาบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหาย พบว่าได้ผลดีนัก แต่จะใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อราที่ผมและเล็บ
- ใช้ใบผสมกับน้ำปูนใส หรือน้ำมัน หรือเกลือ ใช้ตำพอกรักษากลากหรือโรคผิวหนัง
- ส่วนอีกวิธีให้นำใบมาตำหรือคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำปูนใสทาหรือผสมกับวาสลิน ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา
- หรือจะใช้ครีมสารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศ 95% ด้วยเอทานอลความเข้มข้น 20% นำมาทาวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาบน้ำเช้าและเย็น ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์
- นอกจากนี้ในส่วนของต้น เปลือกต้น ราก ผล เมล็ด และทั้งต้นก็มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อนด้วยเช่นกัน (ต้น, เปลือกต้น, ราก, ผล, เมล็ด, ทั้งต้น)
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/