ลักษณะของต้นอะราง
- ต้นอะราง หรือ นนทรีป่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 30 เมตร ต้นเล็กมักจะแตกกิ่งต่ำ แต่เมื่ออายุมากขึ้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมทึบ เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาล (บ้างว่าสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล) เปลือกต้นค่อนข้างเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป หรือแตกเป็นร่องตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลปนแดง ทีกิ่งและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงคลุมอยู่หนาแน่น มักขึ้นเป็นกลุ่มตามชายป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณทางภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทางภาคเหนือ และขึ้นตามป่าโปร่งชื้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และมีเขตการกระจายพันธุ์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินโดนีเซีย
- ใบอะราง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับกัน ช่อใบมีความยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างอยู่ตรงข้ามกันประมาณ 5-9 คู่ ในแต่ละช่อจะมีใบย่อยเล็ก ๆ ออกตรงข้ามกันคล้ายกับใบกระถิน โดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 6-18 คู่ ซึ่งลักษณะของใบย่อยจะเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 10-25 มิลลิเมตร ปลายใบมนเว้าตื้นตรงกลาง โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ที่ใบย่อยไม่มีก้านใบ
- ดอกอะราง ออกดอกเป็นช่อแบบห้อยระย้าลงสู่พื้นดิน โดยออกตามซอกใบ ช่อดอกมีความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลือง มีลักษณะตูมเป็นรูปไข่ กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ส่วนดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.8-2 เซนติเมตร และดอกอะรางจะบานในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม


- ผลอะราง มีผลเป็นฝักแบน ผิวเรียบ ลักษณะของผลเป็นรูปบรรทัดแกมรูปหอก ขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ปลายและโคนผลสอบแหลม ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลแดงและแตกออกเป็นสองซีก (บ้างก็ว่าจะไม่แตกอ้าออกจากกัน) และมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด (ประมาณ 4-8 เมล็ด) เมล็ดมีลักษณะแบนเรียงตัวตามขวางของฝัก โดยจะออกผลในช่วงเดือนสิงหาคม
สรรพคุณของอะราง
- เปลือกต้นมีรสฝาด ใช้รับประทานรักษาโรคเกี่ยวกับโลหิต (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้รับประทานเป็นยากล่อมเสมหะ รักษาโรคเกี่ยวกับเสมหะ (เปลือกต้น)
- ใช้เป็นยาช่วยขับลม (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นใช้ต้มดื่มแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)
ประโยชน์ของอะราง
- นิยมใช้ปลูกเป็นไม้เบิกนำ เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว จึงเหมาะสำหรับการปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม
- ต้นอะรางสามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับได้ เนื่องจากมีลักษณะของทรงพุ่มที่สวยงาม ดอกสวยมีสัน ทนความแล้งได้ดี ลักษณะโดยรวมคล้ายกับต้นนนทรี แต่ช่อดอกจะห้อยลง เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่กว้าง หรือเป็นไม้ให้ร่มเงาตามสวนสาธารณะ ริมถนน ทางเดิน ที่จอดรถ ตามรีสอร์ท หรือริมทะเล ฯลฯ
- เปลือกต้นที่มีอายุมากใช้รับประทานได้ โดยขุดผิวด้านในออกมาแล้วสับให้ละเอียด ใส่ในส้มตำร่วมกับสับปะรดและมดแดง
- เปลือกสามารถนำมาต้มกับเทียนไข เพื่อนำมาใช้ถูพื้นได้
- เปลือกต้นใช้เป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีน้ำตาลแดง
- เนื้อไม้อะรางสามารถเลื่อยผ่า ไสกบ และตกแต่งได้ง่าย จึงสามารถนำมาใช้ทำเครื่องเรือน วัสดุในการสร้างบ้าน เช่น ไม้กระดาน หน้าต่าง วงกบประตู ฯลฯ และยังใช้ทำเป็นเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com