นางแย้ม

ลักษณะของนางแย้ม

  • ต้นนางแย้ม เป็นไม้พุ่มลำต้นเตี้ย ลำต้นค่อนข้างตรง มีขนปกคลุมเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อน มีความสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการขุดต้นอ่อนที่เกิดจากรากที่อยู่ใกล้ผิวดิน (เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด) หรือใช้วิธีการตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง สามารถพบได้มากตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ หรือที่ร่มรำไรที่มีความชื้นสูงและมีดินร่วนซุย

ต้นนางแย้ม

  • ใบนางแย้ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ หรือรูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ใบกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ผิวใบสากระคายมือ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง ขอบใบหยัก รอบใบเป็นฟันเลื่อยห่าง ๆ เมื่อเด็ดใบแล้วนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะ

ใบนางแย้ม

  • ดอกนางแย้ม ออกดอกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ หนึ่งช่อดอกจะกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกมะลิซ้อน คือมีดอกเป็นพวงเล็ก ๆ หลาย ๆ ดอกเรียงรายซ้อนกันอยู่ แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว เมื่อบานแล้วจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีชมพู สีม่วงแดงสลับขาว ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก กลีบเลี้ยงมีสีม่วงแดง ดอกย่อยจะบานไม่พร้อมกัน ดอกด้านบนจะบานก่อนดอกด้านล่าง แต่ถ้าบานจะบานอยู่นานหลายวัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 ก้าน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 4 ก้าน ดอกนางแย้มมีกลิ่นหอมมากทั้งในเวลาวันและกลางคืน และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี

ดอกนางแย้ม

สรรพคุณของนางแย้ม

  1. รากช่วยบำรุงประสาท (ราก)
  2. นางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
  3. ช่วยลดความดันโลหิตสูง ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  4. ช่วยแก้หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  5. ช่วยรักษาลำไส้อักเสบ (ราก)
  6. ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ดากโผล่ ด้วยการใช้รากแห้งจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำแล้วนั่งแช่ในน้ำที่ต้มชั่วครู่ (ราก)
  7. ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่นเหลืองแดง โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
  8. ช่วยขับระดูขาวของสตรี ด้วยการใช้รากและใบแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ใบ)
  9. ช่วยแก้ไตพิการ โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก, ทั้งต้น)
  10. ช่วยแก้ฝีภายใน โดยใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
  11. ต้นนางแย้มมีสรรพคุณช่วยแก้พิษฝี (ทั้งต้น)
  12. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดจำนวนพอสมควรต้มกับน้ำ ใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น (ใบ)
  13. รากใช้ฝนกับน้ำปูนใสใช้ทารักษาเริมและงูสวัด (ราก)
  14. ช่วยแก้อาการเหน็บชา ปวดขา ด้วยการใช้รากประมาณ 15-30 กรัม ใช้ตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3 วัน (ราก)
  15. ช่วยแก้เหน็บชาที่มีอาการช้ำบวม ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก)
  16. ช่วยแก้อาการปวดข้อและปวดเอว ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, ทั้งต้น)
  17. ใบใช้ประคบช่วยรักษาไขข้ออักเสบได้ (ใบ)
  18. ช่วยแก้อาการกระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง (ราก, ทั้งต้น)