พฤกษ์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Albizia lebbeck Benth. อยู่ในวงศ์ Mimosoideae (Leguminosae) ซึ่งเป็นพืชประเภทถั่ว เช่นเดียวกับต้นไม้ยืนต้นที่มีชื่อลงท้ายด้วยพฤกษ์ที่เราคุ้นเคย เช่น ราชพฤกษ์ (คูน) กาลพฤกษ์ (กัลปพฤกษ์) และชัยพฤกษ์ เป็นต้น ต่างกันตรงที่อยู่ทั้ง ๓ ชนิด อยู่ในสกุล Cassia แต่ก็มีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน
พฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๕-๒๕ เมตร ทรงพุ่มกว้างพอสมควร ด้านบนพุ่มค่อนข้างแบน เปลือกสีเทาเข้มหรือน้ำตาลอมเหลือง ผิวเปลือกขรุขระมักแตกเป็นร่องยาว เปลือกด้านในมีสีแสดแดง ใบเป็นรูปขนนก สองชั้นเรียงสลับกัน ก้านช่อใบยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร มีขนละเอียดปกคลุม ช่อใบแขนงยาวประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร ใบย่อยทรงยาวรี กว้างประมาณ ๑-๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๒-๔ เซนติเมตร ใบร่วงในช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม (ผลัดใบ) แตกยอดอ่อนราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม ดอกเกิดที่ปลายกิ่งและโคนก้านใบ ออกเป็นช่อยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรยาวเป็นฝอยคล้ายดอกจามจุรี แต่มีสีขาวอมเขียว และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม มักออก ดอกในเดือนมีนาคมถึงเมษายน ฝักแบนโตคล้ายฝักกระถิน สีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๐ ถึง ๓๐ เซนติเมตร มีเมล็ด ๔-๑๒ เมล็ดต่อฝัก
พฤกษ์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชีย ซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยจึงพบว่าเป็นต้นไม้ พื้นบ้านที่พบขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ทุกภาคของประเทศไทย มีชื่อเรียกต่างๆกันไปมากมาย เช่น พฤกษ์, ซึก, ซิก, จามจุรี, กะซึก, ชุงรุ้ง, ก้ามปู, คะโก, จามรี (ภาคกลาง) มะขามโคก, มะรุมป่า (นครราชสีมา) ก้านฮุ้ง (ชัยภูมิ) ถ่อนนา (เลย) พญากะบุก (ปราจีน) จ๊าขาม (ภาคเหนือ) ตุ๊ด (ตาก) กรีด, แกร๊ะ (ภาคใต้) กาแซ, กาไม (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Indian Walnut หรือ Siris น่าสังเกตว่า พฤกษ์ มีชื่อซ้ำกับพืชชนิดอื่นที่เรารู้จักกันดีด้วย คือ จามจุรี และก้ามปู อันเป็นต้นไม้อยู่ในวงศ์เดียวกัน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman (Jacq.) Merr. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Rain Tree ความจริงจามจุรี (ก้ามปู, ฉำฉา) เป็นต้นไม้มาจากทวีปอเมริกาใต้ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง ชื่อจามจุรี หรือก้ามปูก็นำไปจากชื่อของต้นพฤกษ์นี้เอง เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะลักษณะดอกที่มีเกสรยาวเป็นฝอย ต่างกันที่สีดอกพฤกษ์มี สีขาวเหลือง แต่ดอกจามจุรี(ใหม่) สีออกชมพูแดง จึงเรียกในสมัยแรกๆ ว่าจามจุรีแดง เพื่อให้เห็นความแตกต่างจากจามจุรีเดิม(พฤกษ์) ซึ่งมี ดอกสีขาวเหลือง ต่อมาเรียกสั้น ลงว่าจามจุรี (เฉยๆ) ไม่มีคำว่าแดง ตามหลัง และไม่มีเรียกต้นพฤกษ์ ว่าจามจุรีหรือก้ามปูอีกมาจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตที่คนไทยภาคกลางเรียกพฤกษ์ว่าจามจุรีหรือจามรี น่าจะเป็นเพราะลักษณะดอกเป็นฝอย และมีสีออกเหลืองคล้ายแส้ขนจามรี (จามจุรี) ที่ใช้ในพิธีมงคลนั่นเอง ส่วนที่ได้ชื่อว่าก้ามปู ก็เพราะลักษณะตอนปลายช่อใบคล้ายก้ามปูทะเล จึงเรียกว่า ต้นก้ามปู ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของต้นพฤกษ์ ก็คือ กลางคืนใบจะหุบลีบติดกัน เหมือนนอนหลับและแผ่ออกจากกันตอนเช้าไปจนตลอดวัน
พฤกษ์ในฐานะผักพื้นบ้าน
ใบอ่อนและยอดอ่อนของพฤกษ์ นำมากินเป็นผักได้ เช่น ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกปลาร้า ฯลฯ โดยนำไปทำให้สุกเสียก่อน เช่น ต้ม, ลวก, ย่าง ฯลฯ นอกจากนี้ยังนำไปปรุงอาหารตำรับอื่นๆได้อีก เช่น แกงส้ม เป็นต้น ยอดพฤกษ์เป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และรสชาติดีไม่แพ้ผักพื้นบ้านชนิดอื่นๆ แต่น่าเสียดายที่คนไทยรู้จักกินกันน้อยกว่าในอดีตมาก เท่าที่สังเกตดูตามตลาดสดต่างๆ ไม่พบว่า มียอดพฤกษ์ขายเลย ยกเว้นตลาดท้องถิ่นเล็กๆในบางจังหวัดเท่านั้น หากมีการแนะนำส่งเสริมกันบ้างแล้ว คิดว่าคนไทยจะหันมานิยมกินพฤกษ์กันได้ไม่ยาก
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของพฤกษ์
พฤกษ์เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนานจึง ย่อมถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างรอบด้าน เช่น ด้านสมุนไพรรักษาโรค โดยใช้ส่วนต่างๆของพฤกษ์ ดังนี้
เมล็ดและเปลือก : มีรสฝาด เป็นยาสมาน เช่น รักษาแผลในปาก, ในลำคอ, เหงือกหรือฟันผุ, ริดสีดวงทวารหนัก, แก้ท้องร่วง, ห้ามเลือดตกใน
เมล็ด : รักษากลากเกลื้อน, โรคเรื้อน, ทำยารักษาเยื่อตาอักเสบ
ใบ : ใช้ดับพิษร้อน ทำให้เย็น
พฤกษ์เป็นต้นไม้โตเร็วและทนทาน เหมาะสำหรับปลูกในที่เสื่อมโทรมและแห้งแล้งสามารถปรับปรุงสภาพดินให้สมบูรณ์ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นพวกถั่วซึ่งสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นปุ๋ยไนเทรตได้ดี เนื้อไม้พฤกษ์เหนียว แข็งแรง ทนทานปานกลาง เลื่อยไสกบได้ง่าย มีสีน้ำตาลอ่อนถึงแก่ เป็นมัน เป็นไม้ที่ใช้ค้าขายระหว่างประเทศด้วย ชื่อทางการค้าคือ Indian Walnut Siris และ Kokko
เนื่องจากพฤกษ์เป็นต้นไม้ที่มีประโยชน์และผูกพันกับคนไทยมากชนิดหนึ่ง จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมหาสารคาม โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถได้ทรงโปรดพระราชทานกล้าไม้มงคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดนำไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคล เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดทั้ง ๗๖ จังหวัด โดยจังหวัดมหาสารคาม ได้รับพระราชทานต้นพฤกษ์เป็นไม้มงคลประจำจังหวัด ดังนั้นต่อไปนี้คนไทยที่ปลูกต้นพฤกษ์นอกจากจะได้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ผัก, สมุนไพร, ร่มเงา, เนื้อไม้ ฯลฯ แล้วยังจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวอีกด้วย