พะยูง:ไม้มงคลประจำจังหวัดหนองบัวลำภู

ลักษณะของต้นพะยูง

  • ต้นพะยูง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน มีแก่นหอมร้อนและมีรสขมฝาดเล็กน้อย การขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันก็คือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและนิยมกันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำเหง้ามาปักชำ สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี ต้นพะยูงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าราบ ป่าโปร่ง และขึ้นประปรายทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-300 เมตร

ต้นพะยูง

  • ใบพะยูง ใบเป็นใบประกอบ ออกเป็นช่อแบบขนนกปลายคี่ ช่อติดเรียงสลับกัน ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ใบและช่อจะใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปไข่ ติดเรียงสลับประมาณ 7-9 ใบ ปลายสุดของช่อใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่ หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลมยื่นเล็กน้อย โคนใบมนกว้าง แล้วค่อย ๆ เรียวสอบแหลมไปทางปลายใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ใบมีลักษณะเหนียวคล้ายกับแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้มกว่าด้านท้องใบ โดยท้องใบเป็นสีเขียวนวล ใบเกลี้ยงไม่มีขนทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-8 คู่ พอสังเกตเห็นได้ทั้งสองด้าน ก้านใบย่อยยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ส่วนแกนกลางใบประกอบยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร

ใบพะยูง

  • ดอกพะยูง ดอกออกรวมกันเป็นช่อแยกแขนง ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกตั้งขึ้น ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปดอกถั่วสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบฐานดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ๆ หรือเป็นรูประฆัง ขอบหยักเป็นแฉกตื้น ๆ 5 แฉก มีขนสั้น กลีบคลุมมีลักษณะคล้ายรูปโล่ กลีบปีกสองกลีบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ส่วนกลีบกระโดงเชื่อมติดกัน มีลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวหรือรูปเรือ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน อันบนอยู่เป็นอิสระ นอกนั้นจะอยู่ติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนรังไข่มีลักษณะเป็นรูปรี ภายในมีช่องเดียว แต่มีไข่อ่อนอยู่หลายหน่วย หลอดท่อรังไข่มีหลอดเดียว ยาวยื่นพ้นเกสรเพศผู้ขึ้นมา โดยต้นพะยูงจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

ดอกพะยูง

ดอกพยุง

  • ผลพะยูง ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปขอบขนาน แบนและบอบบาง มีขนาดกว้างประมาณ 1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผิวฝักเกลี้ยง ตรงกลางมีกระเปาะหุ้มเมล็ด บริเวณที่หุ้มเมล็ดจะมองเห็นเส้นแขนงไม่ชัดเจน ฝักจะแก่ประมาณ 2 เดือนหลังการออกดอก ซึ่งจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เมื่อฝักแก่แล้วจะไม่แตกออกเหมือนฝักมะค่าโม่งหรือฝักไม้แดง แต่ฝักจะร่วงหล่นโดยที่เมล็ดยังอยู่ในฝัก

ผลพะยูง

  • เมล็ดพะยูง เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปไต สีน้ำตาลเข้ม มีประมาณ 1-4 เมล็ดต่อฝัก ผิวเมล็ดค่อนข้างมัน มีขนาดกว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร

สรรพคุณของพะยูง

  1. ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกต้นหรือแก่นพะยูง นำมาผสมกับแก่นสนสามใบ แก่นขี้เหล็ก และแก่นแสมสาร ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง (เปลือกต้น, แก่น)
  2. รากใช้กินเป็นยารักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม (ราก)
  3. เปลือกนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาอมรักษาโรคปากเปื่อย ปากแตกระแหง (เปลือก)
  4. ยางสดใช้เป็นยาทาปาก รักษาโรคปากเปื่อย (ยางสด)
  5. ยางสดใช้ทาแก้เท้าเปื่อย (ยางสด)

ประโยชน์ของพะยูง

  1. ผลใช้ทำเป็นไม้ประดับแห้งได้
  2. ไม้พะยูง เนื่องจากพะยูงมีเนื้อไม้ที่มีสีสันและลวดลายสวยงามไม้พยุง จนถือได้ว่าเป็นไม้ที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งในตลาดโลก (แพงกว่าไม้สักหลายเท่า) เป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน จนนำไปสู่ปัญหาใหญ่ภายในประเทศคือการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออก (เบื้องต้นอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 800 บาท คิวละ 2-6 แสนบาท (ในขณะที่ไม้สักคิวละประมาณ 3-5 หมื่นบาท) แต่ถ้าส่งออกจะมีราคาแพงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว) เพราะเนื้อไม้พะยูงเป็นไม้ที่ละเอียดเหนียว มีความแข็งแรงทนทาน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว นิยมนำมาใช้ในการทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำสิ่งประดิษฐ์ งานแกะสลัก ไม้ถือและด้ามเครื่องมือ ที่มีคุณภาพดีและราคาแพง นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน ทำกระบะยนต์ ด้ามหอก คันธนู หน้าไม้ กระสวยทอผ้า ใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เช่น ซออู้ ซอด้วง ขลุ่ย รำมะนา ลูกระนาด โทน ฯลฯ หรือใช้ทำเป็นวัตถุมงคลและของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว ตัวปี่เซียะ เป็นต้น ในปัจจุบันไม้พะยูงจัดเป็นไม้สงวน หากใครมีไว้ในครอบครองจะถือว่ามีความผิด (มีสถานภาพเป็นไม้หวงห้ามธรรมดาประเภท ก) เนื่องจากในเวลานี้ไม้พะยูงถือว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลกเท่านั้น และกำลังเผชิญกับสภาวะที่ล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์ ส่วนในประเทศอื่น ๆ อย่างประเทศลาวที่เคยมีมากก็หมดไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่คนไทยไม่ใช้ประโยชน์จากไม้พะยูงมากเท่าใดนัก ก็คงเป็นเพราะไม้ชนิดนี้มีราคาสูงมากบวกกับคนไทยมีความเชื่อบางอย่าง ที่เชื่อว่าไม้พะยูงเป็นของสูง ผู้ที่มีบารมีไม่ถึงไม่สมควรเอามาใช้ เพราะจะมีปัญหาภายหลัง (ยกเว้นเอามาทำเป็นหิ้งพระ) ด้วยเหตุนี้คนไทยจึงไม่นิยมนำไม้พะยูงมาทำเป็นไม้กระดาน บันไดบ้าน และเตียงนอน ใช้เพียงแต่ทำรั้วบ้านเท่านั้น
  3. ประโยชน์ของไม้พะยูงกับการเลี้ยงครั่ง ไม้พะยูง เป็นไม้ที่สามารถนำมาเลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยสามารถให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม และทำให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรดเอ
  4. ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลนาม ตามชื่อที่พ้องกับคำว่า “พยุง” ที่หมายถึง การประคองให้อยู่ในสภาพปกติ ช่วยให้ทรงตัวได้ จึงมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นพะยูงไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ ช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย และต้นพะยูงยังจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์วัตถุต่าง ๆ เช่น ในการนำมาใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นพะยูงในวันเสาร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้ปลูก ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพบุรุษ เพราะพยุงเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพบุรุษ อีกทั้งแก่นไม้พยุงก็มีความแข็งแกร่งทนทานจึงเปรียบเทียบได้กับความแข็งแรงของสุภาพบุรุษนั่นเอง นอกจากนี้พะยูงยังจัดเป็น 1 ใน 9 ของไม้มงคลไทยอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย ราชพฤกษ์, ชัยพฤกษ์, ขนุน, ทองหลาง, ทรงบาดาล ไผ่สีสุก, สัก, กันเกรา, และพะยูง
  5. การใช้งานด้านภูมิทัศน์ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงาที่สาธารณะหรือในบริเวณบ้านได้ เนื่องจากมีพุ่มใบละเอียดและมีดอกหอม

ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com