พิลังกาสา

ลักษณะของพิลังกาสา

  • ต้นพิลังกาสา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียภาคใต้ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม มีความสูงของต้นประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น แต่ไม่มากนัก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินทรายหรือดินเหนียว แต่ไม่ชอบดินแฉะ โดยจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าราบและมีประปรายอยู่ทั่วไป บ้างว่าพบได้ตามป่าโปร่ง ป่าดิบเขาทั่วไป ที่ราบสูง

ต้นพิลังกาสา

  • ใบพิลังกาสา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ ๆ ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก แผ่นใบเป็นสีเขียวมัน มีลักษณะหนาและใหญ่ ส่วนยอดอ่อนเป็นสีแดง

ใบพิลังกาสา

  • ดอกพิลังกาสา ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามส่วนของยอด ดอกเป็นสีเหลืองนวล บ้างว่าเป็นสีชมพูอมขาว หรือสีขาวแกมชมพู เมื่อดอกบานเต็มที่จะมี 5 แฉก คล้ายรูปดาว

ดอกพิลังกาสา

ดอกพิลังกาสา

  • ผลพิลังกาสา ผลมีลักษณะกลมโต มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ออกผลเป็นกระจุกมีก้านช่อยาวห้อยย้อยลง และก้านผลยาวเรียงสลับรอบก้านช่อ ผลอ่อนเป็นสีแดง เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ

ผลพิลังกาสา

สรรพคุณของพิลังกาสา

  1. ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน หรือใช้ผงยา 1 ช้อนโต๊ะผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่มช่วยบำรุงโลหิต (ผล)
  2. ช่วยแก้ธาตุพิการ (ผล)
  3. ผลใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ในกองอติสารโรค (ผล)
  4. ใบมีรสร้อน ช่วยแก้อาการไอ (ใบ)
  5. ใบใช้เป็นยาแก้ลม (ใบ)
  6. ช่วยแก้ปอดพิการ (ใบ)
  7. ใบและผลช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ, ผล)
  8. ดอกใช้เป็นยาแก้พยาธิ (ดอก)
  9. รากใช้เป็นยาแก้กามโรค หนองใน (ราก)
  10. ช่วยแก้โรคระดูของสตรี ด้วยการนำผลสุกมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน (ผล)
  11. ใบใช้เป็นยารักษาโรคตับพิการ (ใบ)
  12. รากใช้เป็นยาพอกปิดแผล ถอนพิษงูกัด แก้พิษงู หรือใช้กากพอกแผล เอาน้ำกิน (ราก)
  13. เมล็ดช่วยแก้ลมพิษ (เมล็ด, ผล)
  14. ดอกใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค (ดอก)
  15. ต้นใช้เป็นยาฆ่าพยาธิผิวหนัง (ต้น)
  16. ต้นใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน กุฏฐัง (ต้น) ส่วนผลใช้แก้โรคเรื้อน (ผล)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพิลังกาสา

  • สารที่พบ คือ α-amyrin, rapanone
  • สมุนไพรชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ช่วยยับยั้ง platelet activating factor receptor binding มีฤทธิ์เหมือนฮีสตามีน ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด รักษามาลาเรีย แก้อาการท้องเสีย แก้เกลื้อน ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเชื้อ Aspergillus

ประโยชน์ของพิลังกาสา

  • ผลอ่อน ใบอ่อน ยอดอ่อนมีรสชาติฝาดมัน เปรี้ยวอมหวาน ใช้รับประทานเป็นผักเหนาะได้
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยได้นำผลสุกของพิลังกาสามาทำเป็น “ไวน์พิลังกาสา” และได้นำไวน์นั้นไปตรวจวิเคราะห์ พบว่ามีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin), สารฟีโนลิค (Phenolic) และฟลาโวนอยด์ (Phenolic flavannoid) สูง จึงเหมาะจะส่งเสริมทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้ เนื่องจากสารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันเส้นเลือดตีบและเส้นเลือดอุดตัน ฯลฯ
  • ผลของพิลังกาสาสุกจะเป็นสีม่วงเข้มจนเกือบดำ โดยสีม่วงนี้จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระไปทำลายเซลล์ในร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองอุดตัน นอกจากนี้ยังช่วยยับยั้งเชื้ออีโคไล (E. coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษได้อีกด้วย
  • ต้นพิลังกาสาเป็นที่นิยมในการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสถานที่ราชการหรือตามสวนสาธารณะทั่วไป เพาะปลูกได้ง่าย อีกทั้งดอกยังมีความสวยงามและออกดอกดกเป็นกลุ่มใหญ่[4]