- ต้นพุดซ้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน บ้างก็ว่าจัดเป็นพรรณไม้ดั้งเดิมของบ้านเรานี่เอง โดยจัดเป็นไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายต้นพุดจีบ แต่จะแตกต่างกันที่ว่าพุดซ้อนจะไม่มีสีขาวอยู่ในต้นและใบเหมือนพุดจีบ ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ลำต้นและกิ่งก้านเป็นสีเขียว ใบขึ้นดกหนาทึบ ส่วนรากใต้ดินเป็นสีเหลืองอ่อน นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เนื่องจากเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ต้องการแสงแดดจัดและความชื้นสูง หากปลูกในที่มีแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้ไม่ค่อยออกดอก และการตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งจะช่วยทำให้ดอกมีขนาดใหญ่ขึ้นได้โดยมักพบขึ้นในป่าดงดิบทางภาคเหนือ
- ใบพุดซ้อน พุดซ้อนเป็นไม้ที่ออกใบหนาแน่น ทำให้ดูทึบ โดยใบจะเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามหรือประกอบเป็นใบ 3 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปมนรีหรือรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ เป็นขอบสีขาว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวเข้ม เนื้อใบหนา ก้านใบสั้น มีหูใบ 2 อันอยู่ระหว่างก้านใบด้านละอัน ลักษณะของใบทั่วไปคล้ายใบพุดจีบ แต่จะแตกต่างกันตรงที่ไม่มียางสีขาวเท่านั้น
- ดอกพุดซ้อน โดยมากแล้วจะออกดอกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกพุดจีบ ดอกของพุดซ้อนจะเป็นสีขาวและมีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น โคนกลีบแหลม ปลายกลีบมนรี มีกลีบดอกประมาณ 5-7 กลีบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7 เซนติเมตร เนื้อนุ่มและมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 ก้านรูปแถบ ติดที่ปลายหลอดกลีบดอก เกสรเพศเมีย ก้านเกสรยาว ยอดเกสรเป็นกระจุกแน่น รังไข่จะอยู่ใต้ฐานรองดอก ส่วนกลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-8 แฉก ก้านดอกสั้นหรือไม่มีก้านดอก
- ผลพุดซ้อน ผลมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ ออกแบบหัวทิ่มลง ผลอ่อนเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองหรือเป็นสีส้มถึงแดง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร เปลือกผลมีเหลี่ยมตามยาว ประมาณ 5-7 เหลี่ยม ภายในมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-6 เมล็ด เมล็ดจะมีเนื้อเยื่อหุ้มเป็นสีแดง
สรรพคุณของพุดซ้อน
- รากและผลมีรสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ช่วยแก้อาการร้อนใน ขับน้ำชื้น ทำให้เลือดเย็น แก้ตัวร้อน มีไข้สูง (ราก, ผล)
- เนื้อไม้เป็นยาเย็น ช่วยลดพิษไข้ (เนื้อไม้)เปลือกต้นและรากเป็นยาแก้ไข้ (เปลือกต้น, ราก)
- ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน (ผล)
- ช่วยแก้อาการกระสับกระส่ายนอนไม่หลับ (ผล)
- ช่วยแก้ตาอักเสบ (ผล)
- ช่วยแก้เลือดกำเดา (ผล)
- ใบใช้ตำพอกแก้อาการปวดศีรษะได้ (ใบ)
- ช่วยแก้อาการเหงือกบวม ปวดฟัน (ผล)
- ช่วยรักษาปากและลิ้นเป็นแผล (ผล)
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (ผล)
- รากช่วยแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ (ราก)
- เปลือกต้นเป็นยาแก้บิด แก้ปวดท้อง (เปลือกต้น)
- ผลเป็นยาขับพยาธิและขับปัสสาวะ (ผล) ส่วนน้ำจากต้นใช้เป็นยาขับพยาธิ (น้ำจากต้น)
- ช่วยแก้ปัสสาวะเป็นเลือด (ผล)
- ตำรับยาแก้ตับอักเสบเฉียบพลันเนื่องจากการติดเชื้อและมีอาการตัวเหลือง ระบุให้ใช้รากพุดซ้อนสด 70 กรัม, รากใบไผ่เขียว, หญ้าคา และเปลือกต้นหม่อนอย่างละ 35 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- รากใช้ตำพอกแผลสด ห้ามเลือด ช่วยสมานบาดแผล (ราก)
- น้ำคั้นจากดอกนำมาผสมกับน้ำมันใช้เป็นยาทารักษาโรคผิวหนัง หรือจะใช้เฉพาะน้ำคั้นจากดอกเพียงอย่างเดียวก็ได้ (น้ำจากดอก)
- ช่วยแก้ผื่นคันตามผิวหนัง (ราก)
- ช่วยแก้ฝีหนองอักเสบ (ราก)
- ช่วยแก้อาการปวดบวม (ราก)
- ตำรับยาแก้เคล็ดขัดยอกระบุให้ใช้ผลพุดซ้อนแห้ง 250 กรัม, โกฐเชียง, คำฝอย และเมล็ดลูกท้ออย่างละ 150 กรัม นำมารวมกันบดเป็นผง แล้วนำไปเคี่ยวกับวาสลิน 250 กรัม และผสมกับน้ำส้มสายชูอีก 500 ซีซี แล้วเคี่ยวจนให้เข้ากันดี ใช้เป็นยาทาภายนอกบริเวณที่มีอาการ (ผล)
หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [3] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 35-70 กรัม นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน หรือใช้ตำพอกแผลภายนอก
สรรพคุณของผลพุดซ้อนตามตำราการแพทย์แผนจีน
- กีจื้อ (ผลพุดซ้อน) มีรสขมเย็น มีฤทธิ์ขับความร้อน ระบายความร้อน แก้ไข้ แก้หงุดหงิดกระวนกระวาย ช่วยเสริมความชื้น ทำให้เลือดเย็น แก้เลือดกำเดาไหล แก้ปัสสาวะและอาเจียนเป็นเลือด (เนื่องจากเลือดมีพิษร้อน) แก้ดีซ่าน (ตัวเหลืองจากความร้อนหรือร้อนชื้นของตับและถุงน้ำดี) มีฤทธิ์บรรเทาอาการพิษอักเสบ แก้พิษอักเสบของแผล ฝีอักเสบ อาการบวมจากการกระทบกระแทก ลดบวมจากการอักเสบ ช่วยระงับอาการปวด แก้อาการอักเสบบวมแดง
- กีจื้อผัดและกีจื้อผลพุดซ้อนผัดเกรียมมีวิธีใช้และสรรพคุณที่เหมือนกัน แต่จะใช้ในกรณีที่ระบบกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง
- กีจื้อถ่านมีฤทธิ์ห้ามเลือดและทำให้เลือดเย็น ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด
หมายเหตุ : สำหรับวิธีใช้ ให้ใช้ประมาณ 6-9 กรัมนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม
ข้อควรระวัง ผลพุดซ้อนไม่เหมาะสำหรับนำมาใช้กับคนธาตุอ่อน อุจจาระเหลว
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพุดซ้อน
- สารที่พบ ได้แก่ Jasminodin, Geniposide, Crocin, Shanzhiside, Genipin-1-B-gentiobioside, Dipentene, Gardonin และยังพบ Gum, Tanin เป็นต้น
- สารสกัดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการกระตุ้นน้ำดีให้มีการไหลออกมากขึ้น และจากการทดลองกับกระต่ายก็พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถช่วยยับยั้ง Bilirubin ของเม็ดเลือดที่อยู่ในเส้นเลือดได้
- เมื่อนำน้ำที่ต้มได้จากผลพุดซ้อนหรือสารที่สกัดได้จากผลพุดซ้อนด้วยแอลกอฮอล์มาทดลองกับสัตว์ทดลอง เช่น หนู แมว หรือกระต่าย พบว่ามีฤทธิ์ทำให้ความดันของสัตว์ทดลองลดลงได้นานพอสมควร
- ผลพุดซ้อนมีฤทธิ์เป็นยาห้ามเลือดและช่วยสมานบาดแผล
- สารหลัก Linalool มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา มีฤทธิ์สงบประสาท และการอักเสบ
ประโยชน์ของพุดซ้อน
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับสวนบริเวณบ้านทั่วไป ตัดแต่งทรงพุ่มและปลูกเป็นแนวรั้วได้ดี สามารถควบคุมการออกดอกได้ด้วยการควบคุมการให้น้ำและการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม อีกทั้งดอกพุดซ้อนยังมีความหมายที่เป็นมงคลอีกด้วย โดยตามความหมายของไทยจะหมายถึงความแข็งแรง สมบูรณ์ ความเจริญมั่นคง ส่วนตามความหมายของฝรั่งจะหมายถึงรักแท้
- ดอกนำมาปักแจกันไหว้พระหรือนำไปร้อยเป็นพวงมาลัยสำหรับบูชาพระ ส่วนในประเทศจีนจะใช้ดอกพุดมาอบใบชาให้มีกลิ่นหอม
- ดอกสามารถนำมาสกัดทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอางได้
- ผลและเมล็ดเมื่อนำมาบดจะให้สารสีเหลืองทองชื่อ Gardenia ใช้เป็นสีสำหรับแต่งสีอาหารให้เป็นสีเหลือง (เช่น การใช้ย้อมสีด้านนอกของเต้าหู้แข็ง แต่งสีน้ำเก๊กฮวย ส่วนในประเทศจีนใช้เป็นสีย้อมผ้า) และยังให้สารสีน้ำตาลแดงชื่อ Corcin ใช้สำหรับแต่งอาหารให้มีสีน้ำตาลแดง
- เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำธูป ทำกรอบรูป และทำหัวน้ำหอมได้
*ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/