ข้ามไปยังบทความ
ลักษณะของมะกล่ำต้น
- ต้นมะกล่ำต่ำ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เป็นไม้ผลัดใบระยะสั้น มีความสูงของต้นได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดแผ่กิ่งกว้าง ต้นเป็นทรงโปร่ง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเปลือกชั้นในนุ่มเป็นสีครีมอ่อน ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดจัด พบขึ้นได้ตามป่าเต็งรังและป่าดิบแล้งที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 50-400 เมตร
- ใบมะกล่ำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปวงรี รูปไข่ หรือเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบ มีประมาณ 8-16 คู่ เรียงสลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-5.5 เซนติเมตร แผ่นใบบางเป็นสีเขียวเข้ม ใบเรียบเกลี้ยง ด้านหลังใบเกลี้ยงเป็นสีเขียวอมเทา ส่วนท้องใบเป็นสีอ่อนกว่าและมีนวลเล็กน้อย มีขนนุ่ม แกนกลางของใบประกอบยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ก้านใบย่อยสั้น ไม่มีหูใบ ส่วนก้านใบหลักมีหูใบขนาดเล็กมากและหลุดร่วงได้ง่าย
- ดอกมะกล่ำต้น ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแคบยาวเป็นรูปทรงกระบอก โดยจะออกดอกตามซอกใบช่วงบนหรือแตกแขนงที่ปลายกิ่ง และจะออกดอกเป็นช่อเดี่ยวหรือหลายช่อรวมกัน ช่อดอกมีความยาวประมาณ 7.5-20 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีขนาดประมาณ 0.3 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนอมสีครีม เมื่อดอกแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้ม มีขนอยู่ประปราย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบแคบ ปลายกลีบแหลม ขนาดประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ฐานเป็นหลอด ก้านดอกสั้นเป็นทรงแคบ ส่วนปลายเป็นถ้วยตื้นแยกเป็น 5 กลีบ ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-3 มิลลิเมตร มีขนเส้นไหม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน อับเรณูมีต่อมอยู่ที่ปลาย ดอกจะมีกลิ่นหอมแบบอ่อน ๆ ในช่วงเย็นคล้ายกลิ่นของดอกส้ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
- ผลมะกล่ำต้น ออกผลเป็นฝัก ลักษณะของฝักเป็นรูปแถบแบนยาว มีขนาดกว้างประมาณ 8-12 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะแตกออกเป็นสองตะเข็บและบิดม้วนงอเป็นเกลียวแน่นเพื่อกระจายเมล็ด และมีรอยคอดตามเมล็ดชัดเจน เมล็ดจะติดอยู่ในฝักเป็นเวลานาน ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10-15 เมล็ด
- เมล็ดมะกล่ำต้น เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลม แข็ง ผิวมัน และเป็นสีแดงเลือดนกหรือเป็นสีแดงส้ม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-7 มิลลิเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
สรรพคุณของมะกล่ำต้น
- ใบมีรสฝาดเฝื่อน ใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงกำลัง (ใบ)
- ใบใช้ต้มกินเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- เมล็ดนำมาฝนกับน้ำทาแก้อาการปวดศีรษะ หรือจะใช้เนื้อไม้ฝนกับน้ำทาขมับก็แก้ปวดศีรษะได้เช่นกัน (เนื้อ, เมล็ด)
- รากเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)
- เนื้อไม้มีรสเฝื่อน ใช้ฝนกับน้ำกินกับน้ำอุ่นทำให้อาเจียน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าใช้เนื้อไม้ต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้อาเจียน (เนื้อไม้)
- ช่วยแก้อาเจียน (ราก)
- รากมีรสเปรี้ยวขื่นเย็น ใช้เป็นยาขับเสมหะ แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ (ราก)
- ช่วยแก้หืดไอ แก้เสียงแหบแห้ง และแก้อาการสะอึก (ราก)
- ช่วยแก้ลมในท้อง (ราก)
- เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา นำมาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดกินแก้อาการจุกเสียด (เมล็ด)
- เนื้อในเมล็ดใช้ผสมกับยาอื่นเป็นยาระบายได้ (เนื้อในเมล็ด)
- ใบใช้ต้มกินเป็นยาแก้บิด แก้ท้องร่วง (ใบ)
- เนื้อในเมล็ดมีรสเมาเบื่อ นำมาบดเป็นผงแล้วปั้นเป็นมัด ใช้กินเป็นยาขับพยาธิไส้เดือนและพยาธิเส้นด้าย หรือจะใช้เมล็ดคั่วไฟเอาเปลือกหุ้มสีแดงออก แล้วนำมาบดเป็นผงผสมกับยาระบาย ใช้เป็นยาขับพยาธิ เบื่อพยาธิไส้เดือนหรือพยาธิตัวตืด (เมล็ด)
- เมล็ดนำมาบดผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นเม็ด ใช้กินเป็นยาแก้หนองใน (เมล็ด)
- เมล็ดและใบมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารหนัก (เมล็ดและใบ)
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบ)
- เมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยใส่แผลฝีหนอง ช่วยดับพิษฝี ดับพิษบาดแผล (เมล็ด)
- เมล็ดนำมาฝนกับน้ำทาแก้อักเสบ (เมล็ด)[1] ส่วนรากช่วยถอนพิษฝี (ราก)
- ใบนำมาต้มกินแก้โรคปวดข้อ แก้ลมเข้าข้อ (ใบ)
ประโยชน์ของมะกล่ำต้น
- ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสมัน ใช้กินเป็นผักสดร่วมกับอาหารได้หลายประเภท เช่น ลาบ ส้มตำ น้ำตก และอาหารประเภทที่มีรสจัด หรือนำมาลวกจิ้มกับน้ำพริก หรือนำมาแกงก็ได้ โดยคุณค่าทางโภชนาการของยอดอ่อนมะกล่ำต้นต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยโปรตีน 0.7 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 0.6 กรัม, ไขมัน 1.51 กรัม, ใยอาหาร 1.7 กรัม, วิตามินเอ 6,155 หน่วยสากล, วิตามินบี 3 37 มิลลิกรัม (ข้อมูลจากภาควิชาเทคโนโลยีการอาหารและโภชนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม ปี พ.ศ. 2537)
- เนื้อในเมล็ดนำมาคั่วกินเป็นอาหารว่างได้ โดยจะมีรสมัน
- เมล็ดสามารถนำมาใช้ประดับตกแต่งเสื้อผ้าหรือตุ๊กตาได้
- ไม้มะกล่ำต้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านเชื้อเพลิงได้ เพราะเป็นฟืนที่ให้ความร้อนได้สูงถึง 5,191 แคลอรีต่อกรัม
- เนื้อไม้มะกล่ำต้น จะให้สีแดงที่ใช้สำหรับย้อมผ้าได้
- เนื้อไม้ใช้ทำเสาบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ทำเรือ เกวียนได้ดี ฯลฯ เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและหนัก
- มีบ้างที่ปลูกมะกล่ำต้นเป็นไม้ประดับ