ลักษณะของต้นมะลิ
- ต้นมะลิ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบประเทศเอเชีย เช่น อินเดีย คาบสมุทรอาระเบีย โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นทรงพุ่ม มีใบแน่น มีความสูงประมาณ 5 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ (ในช่วงฤดูฝนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด) และการตอนกิ่ง (เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี) เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัด การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ออกดอกน้อยลง และการตัดแต่งใบภายหลังการออกดอกชุดใหญ่จะทำให้การออกดอกดีขึ้น (ทั้งจำนวนและขนาดของดอก)
- ใบมะลิ ใบออกเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปมนป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวแก่ ที่ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบมีขนาดใหญ่ มีประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นมากและมีขน
- ดอกมะลิ ออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน ดอกซ้อนเราจะเรียกว่า “มะลิซ้อน” ส่วนดอกที่ไม่ซ้อนจะเรียกว่า “มะลิลา” โดยทั้งสองชนิดจะเป็นดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม ซึ่งดอกมะลิลาจะมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิซ้อน[1] ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมะลิลาปลายแยกเป็น 5-8 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกที่อยู่ตรงกลางจะบานก่อน แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนปลายแยกเป็นเส้น มีเกสรเพศผู้ 2 ก้านติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว และมักไม่ติดผล
สรรพคุณของมะลิ
- ดอกมะลิมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง (ดอก)
- ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้รากนำไปต้มแล้วดื่มน้ำเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)
- หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาฝนกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ดอก) หรือจะใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดศีรษะก็ได้ (ราก)
- ช่วยแก้เจ็บตา (ดอก)
- รากสดใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ (ราก) ใบและรากใช้ทำเป็นยาหยอดตา (ใบ, ราก)[5] บ้างว่าใช้ดอกมะลิสดที่ล้างน้ำสะอาด นำมาต้มกับน้ำจนเดือดสักครู่ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ล้างตาแก้ตาแดง เยื่อตาขาวอักเสบ (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเจ็บหู (ดอกและใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด (ราก)[3],[10] หากปวดฟันผุ ให้ใช้รากมะลิตากแห้งนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาที่เหนียวข้น ใช้ใส่ในรูฟันผุ (ราก)
- ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด (ดอกและใบ) รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)
- ใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
- ตำรับยาแก้หวัดแดด มีไข้ ให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
- ดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้หวัด แก้ตัวร้อน (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ดอกแก่ใช้เข้ายาหอมเป็นยาแก้หืด (ดอก)
- ช่วยแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือเช็ดบริเวณเต้านมเพื่อให้หยุดการหลั่งของน้ำนมได้ (ดอก)
- ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดแน่น (ใบ) หรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเสียดท้อง (ราก)
- ใช้ดอกสดหรือดอกแห้งประมาณ 1.5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้โรคบิด แก้อาการปวดท้อง (ดอก, ดอกและใบ)
- ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำใบอ่อนใสแช่ในน้ำเย็น ใช้ดื่มแก้นิ่วในถุงน้ำดี (ใบ)
- ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (ดอก)
- ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ราก)
- ดอกสดนำมาตำใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง ทาฝีหนอง ผิวหนังผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และแก้ปวดหูชั้นกลาง (ดอก) ช่วยแก้ฝีหนอง (ดอกและใบ)
- ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แผลโรคผิวหนังเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ และบาดแผล (ใบ) หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ นำไปลนไฟ ใช้ทารักษาแผล ฝีพุพอง (ใบ)
- รากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ให้ใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวด (ราก)
- ใช้แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำ ให้ใช้รากแห้ง 1.5 กรัม นำมาฝนกับเหล้ารับประทาน (ราก) หรือจะใช้รากสดตำพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกเนื่องจากการหกล้ม (ราก)
- ใบช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)
- ตำรายาไทยจะใช้ดอกมะลิแห้งปรุงเป็นยาหอม โดยจัดให้ดอกมะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5, พิกัดเกสรทั้ง 7, พิกัดเกสรทั้ง 9 เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (ดอก)
- นอกจากนี้ยังมีการนำดอกมะลิผสมเข้ายาหอมที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน เช่น ในตำรับยาหอมเทพจิต ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไข้มิรู้จักสติสมปฤดี ยาประสะจันทน์แดง ยามหานิลแท่งทอง เป็นต้น (ดอก)
หมายเหตุ : การใช้ตาม [3] ดอกและใบแห้ง ใช้ครั้งละ 3-6 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นรากแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 1-1.5 กรัม นำมาฝนกับน้ำรับประทาน หรือใช้ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนใช้ภายนอกให้ใช้รากสดนำมาตำพอกแผลตามที่ต้องการ
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของมะลิ
- ดอกมะลิ มีน้ำมันระเหยประมาณ 0.2-0.3% ซึ่งในน้ำมันระเหยจากดอกมะลิพบสาร Benzyl alcohol, Benzyl alcohol ester, Benzyl acetate, Cadinene, Caryophyllene, Geraniol, hexenyl benzoate, Jasmone, Jasmine lactone, Linalool (สารที่ทำให้ดอกมะลิลามีกลิ่น), Methyl benzoate, Methyl jasmonte, และพบสาร Pipid, Linalyl benzoate ส่วนในใบพบสาร Jasmine, Sambacin และรากพบสาร Alkaloids, Sterols เป็นต้น
- ใบและลำต้นของมะลิลาพบสารสำคัญหลายกลุ่ม เช่น flavonoid, triterpenoid, irridoid glycoside เช่น sambacin, sambacoside A, E, F, jasminin, benzyl acetate, cis-linalool oxide, d-fenchene, quercetin, isoquercetin, limonene, linalool, methyl benzoate, kaempferol-3-rhamnooglycoside, methyl salicylate, myrcene, rutin, trans-3-hexenyl butyrate
- สาร jasmolactone B และ D ที่แยกได้จากดอกมะลิพวงออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดโคโรนารี (coronary vasodilating) และกระตุ้นหัวใจ (cardiotropic activities) จึงอาจสนับสนุนการใช้ดอกมะลิในตำรับยาหอมในการรักษาอาการวิงเวียน เป็นลม ที่มีการใช้ในยาไทยมาแต่โบราณ
- น้ำคั้นที่ได้จากรากสดของต้นมะลิ เมื่อนำมาทดลองกับสัตว์ทดลอง เช่น การนำมาฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูใหญ่ หนูตะเภา สุนัข กระต่าย กบ และนกพิราบในปริมาณที่ไม่เท่ากัน พบว่าจะทำให้การเต้นหัวใจของกระต่ายและกบเต้นช้าลง ทำให้กล้ามเนื้อของกบคลายตัว ทำให้หลอดเลือดดำของกระต่ายขยายตัวขึ้น และทำให้มีฤทธิ์ในการกดประสาทของกระต่าย ทำให้กระต่ายเคลื่อนไหวได้ช้าลง
- เมื่อนำรากที่สกัดด้วยน้ำมาทดลองกับหัวใจของกบและกระต่ายที่อยู่นอกตัว พบว่าจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง และเมื่อนำมาทดลองกับมดลูกที่อยู่นอกตัวของหนูและกระต่ายทดลอง จะพบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นมดลูกที่ตั้งท้องและไม่ได้ตั้งท้องให้เกิดการบีบตัวแรงขึ้น
- เมื่อนำสารสกัดจากรากของต้นมะลิด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำในปริมาณ 1-8 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม นำมาฉีดข้าทางช่องท้องของสัตว์ทดลอง เช่น หนู กระต่าย กบ สุนัข พบว่าจะทำให้สัตว์ทดลองมีอาการหลับได้ดี ทำให้หลับสบาย และช่วยทำให้สงบนิ่ง แต่ถ้าใช้สารนี้ในปริมาณมากขึ้น แล้วนำมาฉีดให้กบจะทำให้กบเป็นอัมพาตทั้งตัว จึงแสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการยับยั้งประสาทส่วนกลางของสัตว์
- น้ำมันระเหยจากดอกมะลิลา มีผลช่วยทำให้ระยะเวลาการหลับของยา pentobarbital สั้นลง โดยไปการกระตุ้นประสาทสัมผัสกลิ่น และสารสำคัญคือ phytol
- กลิ่นชามะลิที่มีสารสำคัญ (R)-(-)-linalool พบว่าสามารถช่วยทำให้สงบในอาสาสมัคร 24 คน
- จากการทดสอบตำรับยาที่มีน้ำมันหอมระเหยในตำรับ 3-20% (โดยมีน้ำมันหอมระเหยจากมะลิคิดเป็น 50-90%) พบว่ามีฤทธิ์กระต้นความรู้สึกทางเพศ
- สารสกัดเมทานอลจากดอกมะลิลาแห้งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus sanguinis ที่เป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) เท่ากับ 1 mg/ml ดังนั้นสารสกัดดังกล่าวจึงมีผลต่อสุขภาพในช่องปาก
- สาร benzyl benzoate, caryophyllene oxide, farnesyl acetate, methyl isoeugenol จากดอกมะลิลาออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas aeruginosa และเชื้อรา Aspergillus nige
- น้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิลามีฤทธิ์ในการไล่หมัดได้ดีกว่าสารเคมี diethyltoluamide
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารสกัดจากดอกมะลาด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วน 1:1 ในขนาดเทียบเท่ากับยาผง 10 กรัมต่อกิโลกรัมไม่เป็นพิษต่อหนูถีบจักร ไม่ว่าจะให้ด้วยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือให้ด้วยการป้อน ส่วนสารสกัดจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วน 1:1 เมื่อทำการฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งมีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรมะลิ
- รากมะลิหากรับประทานมาก ๆ อาจทำให้สลบได้
- ดอกมะลิที่นำมาใช้แต่งกลิ่นชาไม่ควรนำมารับประทานเป็นประจำ เพราะอาจทำให้ความจำเสื่อมหรือเป็นคนลืมง่าย
- ดอกมะลิเป็นยารสหอมเย็น อย่าใช้มากเกินไป เพราะจะไปแสลงกับโรคลมจุกเสียดแน่น
- การดื่มน้ำลอยดอกมะลิเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันการปลูกและการดูแลรักษามะลิก็เพื่อการค้าเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจมีการใช้สารเคมีชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
*ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/