ลำดวน:ไม้มงคลจังหวัดศรีสะเกษ

สมุนไพรลำดวน มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หอมนวล (ภาคเหนือ) ส่วนภาคกลางเรียก “ลําดวน

ต้นลำดวน เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคลประจำจังหวัดศรีษะเกษ และดอกลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เพราะมีเรื่องเล่าว่า สมเด็จย่าได้เสด็จไปเยี่ยมชาวจังหวัดศรีษะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลําดวนที่ออกดอกงดงามและมีกลิ่นหอม และทรงพอพระทัย หลังจากนั้นดอกลำดวนจึงกลายเป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ ทำนองเดียวกับดอกมะลิที่เป็นสัญลักษณ์ของแม่นั่นเอง นอกจากนี้ดอกลําดวนยังเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษอีกด้วย

ลักษณะของลำดวน

  • ต้นลำดวน หรือ ต้นหอมนวล มีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งใบจำนวนมาก เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือเป็นพุ่มเป็นรูปกรวยคว่ำ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา เมื่อลำต้นแก่เปลือกต้นจะเป็นสีน้ำตาลอมดำ มีรอยแตกตามแนวยาวของลำต้น ส่วนกิ่งอ่อนเป็นสีเขียวสด ยอดอ่อนและใบอ่อนเป็นสีแดง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ชอบความชื้นสูง และแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน ชอบขึ้นในที่โล่งและมีแสงแดด พบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออก และภาคกลาง และพบได้มากในจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากต้นลำดวนเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีษะเกษ

ต้นลำดวน

  • ใบลำดวน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลมหรือสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีสีอ่อนกว่า เส้นกลางใบเป็นสีออกเหลืองนูนเด่นทั้งสองด้าน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-0.7 เซนติเมตร

ใบลำดวน

  • ดอกลำดวน หรือ ดอกหอมนวล ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นช่อแบบกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปไข่ป้อมถึงรูปเกือบกลม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง ดอกมีกลีบ 6 กลีบ กลีบดอกหนาแข็ง สีเขียวปนเปลือง และมีขน แยกเป็น 2 วง ชั้นนอกมี 3 กลีบ กลีบแผ่แบน ลักษณะของกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกวงใน ปลายกลีบแหลม โคนกลีบกว้าง โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกชั้นในงุ้มเข้าหากันลักษณะเป็นรูปโดม มีขนาดเล็กกว่า แต่จะหนาและโค้งกว่ากลีบชั้นนอก โดยจะมีจะขนาดกว้างประมาณ 0.6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ขนาดเล็ก เกสรเพศผู้และรังไข่มีจำนวนมากอยู่บนฐานสั้น ๆ รังไข่ ไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก มีด้วยกัน 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปเกือบกลม ปลายกลีบมน เกลี้ยงหรือมีขนประปราย ส่วนก้านดอกยาวได้ประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม และแต่ละต้นจะมีช่วงที่ดอกบานอยู่ประมาณ 15 วัน

ลำดวน

ลําดวน

  • ผลลำดวน ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่ม มีผลย่อยประมาณ 15-27 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี รูปไข่ หรือรูปกลม ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลมีขนาดกว้างประมาณ 0.5 นิ้ว และยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง และผลสุกมีสีน้ำเงินดำ มีคราบขาว ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด ใช้รับประทานได้ โดยจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ส่วนก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร โดยจะติดผลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม

ผลลำดวน

ลูกลำดวน

ดอกลำดวนแห้ง

สรรพคุณของลำดวน

  1. ดอกแห้งมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกแห้ง)
  2. ดอกแห้งเป็นยาบำรุงโลหิต (ดอกแห้ง)
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอกแห้ง)
  4. ดอกใช้เป็นยาแก้ลมวิงเวียน (ดอกแห้ง)
  5. ใช้เป็นยาแก้ไข้ (ดอกแห้ง)
  6. ช่วยแก้อาการไอ (ดอกแห้ง)
  7. ดอกลำดวนแห้งจัดอยู่ใน “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (ประกอบไปด้วย เกสรดอกบัวหลวง ดอกกระดังงา ดอกจำปา ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก และดอกลําดวน) ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเหลีบ ช่วยบำรุงหัว แก้พิษโลหิต แก้ลม (ดอก)

หมายเหตุ : ตามตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านของจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้เนื้อไม้และดอกแห้ง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงกำลัง แก้ลมวิงเวียน และเป็นยาแก้ไข้ (เนื้อไม้และดอกแห้ง) (แต่ตำรายาไทยจะใช้แต่ดอก) ส่วนข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ระบุให้ใช้เกสรลำดวนเป็นยา ซึ่งเกสรจะมีสรรพคุณเป็นยาชูกำลัง บำรุงหัวใจ หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง และเป็นยาแก้ลม (เกสร)

ประโยชน์ของลำดวน

  1. ผลสุกของลำดวนมีสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยว ใช้รับประทานได้
  2. ดอกมีกลิ่นหอม รสเย็น นอกจากจะจัดอยู่ในพิกัดเกสรทั้งเก้าแล้ว ยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาหอมอีกด้วย
  3. ดอกลําดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและใช้แซมผม อีกทั้งหญิงไทยในสมัยก่อนก็ชื่อลำดวนกันทั่วไป
  4. ดอกสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย โดยการต้มกลั่นจะได้น้ำมันหอมระเหยร้อยละ 0.08
  5. นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามสวน เพราะต้นลำดวนมีพุ่มใบสวย ดอกสวยมีกลิ่นหอม และต้นลำดวนยังเป็นพรรณไม้ที่ในวรรณคดีไทยหลาย ๆ เรื่องกล่าวถึง เช่น ลิลิตพระลอ รามเกียรติ์ สมุทรโฆษคำฉันท์ อิเหนา เป็นต้น โดยจะนิยมนำมาปลูกสวนสาธารณะร่วมกับไม้ดอกหอมชนิดอื่น ๆ
  6. ในด้านของความเชื่อ คนไทยเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นลำดวนหรือเป็นเจ้าของต้นลำดวน จะช่วยดึงดูดความรัก ช่วยเสริมดวงทางเสน่ห์เมตตา ทำให้มีแต่คนคิดถึงในแง่ดี ทำให้เป็นคนที่น่าจดจำ ใคร ๆ ก็มิอาจลืม และยังเชื่อด้วยว่ากลิ่นหอมของลําดวน สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ทางจิตให้สงบและมีความใจเย็นมากขึ้น ผู้ปลูกควรเป็นผู้หญิงและควรปลูกในวันพุธ เพราะลำดวนเป็นไม้ของผู้หญิง โดยให้ปลูกไว้ทางทิศตะวันออกของตัวบ้าน
  7. บางข้อมูลระบุว่าเนื้อไม้ของต้นลำดวนมีความแข็งแรงทนทาน สามารถนำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ และนำมาใช้ทำฟืนได้ดี

ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com