สีเสียด:ไม้มงคลประจำจังหวัดกำแพงเพชร

ลักษณะของสีเสียด

  • ต้นสีเสียด มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดียตะวันตกของปากีสถานจนถึงพม่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ และสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่ขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ทนต่อแสงแดดและความแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้งและภูเขาหิน แต่ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง ไม่ชอบน้ำขัง พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทางภาคเหนือ และป่าละเมาะบนพื้นที่ราบและที่แห้งแล้งทั่วไป

ต้นสีเสียด

ต้นสีเสียดเหนือ

  • ใบสีเสียด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร ใบย่อยมีจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกันมีอยู่ประมาณ 20-50 คู่ เรียงชิดซ้อนทับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน

สีเสียดไทย

ใบสีเสียด

  • ดอกสีเสียด ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอัดกันแน่น รวมกันเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ก้านช่อมีขน ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นพู่ รูปทรงกระบอกตรง ไม่มีกลีบดอก กลีบรองดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวนวล มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ติดกันที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรไม่ติดกัน เกสรเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาว โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม

ดอกสีเสียด

  • ผลสีเสียด ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว รูปบรรทัด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายและส่วนโคนฝักเรียวแหลม ตัวฝักตรง ผิวฝักเรียบเป็นมัน ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อฝักแก่จะแห้งและแตกอ้าออกตามด้านข้าง มองเห็นเมล็ดภายในซึ่งมีประมาณ 3-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเป็นมัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปแบน (เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 65 กรัม) โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม

สีเสียดลาว

  • ก้อนสีเสียด คือ ยางที่ได้จากต้นสีเสียดที่ถูกนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นสีเสียดที่ถูกนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ กับน้ำ กรองเคี่ยวต่อจะได้ยางสีน้ำตาลดำ มีลักษณะเหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ทิ้งไว้จนแห้งแข็งเก็บไว้ใช้ ไม่มีกลิ่น มีรสขมและฝาดจัด นำมาบดหรือต้มรับประทานเป็นยา

ก้อนสีเสียด

สรรพคุณของสีเสียดเหนือ

  1. เปลือกต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น) ใช้เป็นยาบำรุงธาตุและแก้อติสาร (ก้อนสีเสียด)
  2. ก้อนสีเสียดและเปลือกต้นสีเสียด มีสรรพคุณช่วยปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดง (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
  3. ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ (ก้อนสีเสียด)
  4. ช่วยแก้ปากเป็นแผล ช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก รวมถึงอาการเจ็บที่มีเลือดออก (ก้อนสีเสียด)
  5. ใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ (ก้อนสีเสียด)
  6. ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ด้วยการใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดให้เป็นผงประมาณ 1/3-1/2 ช้อนชา (ประมาณ 0.3-1.0 กรัม) แล้วต้มเอาน้ำดื่มให้หมดใน 1 ครั้ง โดยให้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณแก้ท้องเดินได้เช่นเดียวกัน (ก้อนสีเสียด, เปลือกต้น) หรือจะใช้ผงสีเสียดผสมกับผงอบเชย อย่างละเท่ากัน ถ้าท้องเดินมากให้ใช้ 1 กรัม ถ้าท้องเดินให้ใช้เพียง 1/2 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง หรือประมาณ 30 มิลลิเมตร วันละ 3 ครั้ง (ผงสีเสียด)
  7. ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ก้อนสีเสียด)
  8. แก่นมีฤทธิ์ฝาดสมานเนื่องจากมีสารแทนนิน ตำรายาไทยจะใช้กินเป็นยาแก้ท้องร่วง (แก่น, เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด) ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (เปลือกต้น)[
  9. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น) ส่วนสีเสียดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ก้อนสีเสียด)
  10. ใช้รักษาริดสีดวง (ก้อนสีเสียด)
  11. ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ผงสีเสียดนำมาละลายกับน้ำใช้ใส่แผลสด (ผงสีเสียด)
  12. แก่นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (แก่น) เปลือกต้น มีรสฝาด เป็นยาสมานแผล และใช้เป็นยาชะล้างบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลหัวแตก ล้างแผลหัวนมแตก (เปลือกต้น) ก้อนสีเสียดใช้เป็นยาทาสมานบาดแผล หรือรักษาบาดแผล หรือนำมาต้มใช้ชะล้างบาดแผล ล้างแผลที่ถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว (ก้อนสีเสียด)
  13. ใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (แก่น, ก้อนสีเสียด)
  14. เมล็ดสีเสียดที่อยู่ในฝัก นำมาฝนเป็นยาทาแก้โรคหิด (เมล็ด)
  15. เมล็ดนำมาฝนทารักษาแผลน้ำกัดเท้า (เมล็ด) หรือจะใช้ก้อนสีเสียดฝนกับน้ำให้ข้นใช้ทา หรือใช้ผงสีเสียดผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณแผลน้ำกัดเท่าก็ได้เช่นกัน (ก้อนสีเสียด)
  16. เปลือกต้นนำมาต้มใช้น้ำที่ต้มเป็นยาระงับเชื้อ หรือจะใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดหรือต้มทาเป็นยาระงับเชื้อก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
  17. สีเสียดใช้ใส่ปูนที่รับประทานกับหมากและพลู จะช่วยป้องกันปูนกัดปากได้ (สีเสียด)

ประโยชน์ของสีเสียดเหนือ

  1. ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้แก่นไม้สีเสียด นำมาเคี้ยวกินกับหมาก
  2. ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภท วัว ควาย ทั้งต้นใช้เลี้ยงครั่ง
  3. เปลือกต้นและก้อนสีเสียดถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าและฟอกหนังสัตว์ เนื้อไม้หรือแก่นของสีเสียดจะให้สีน้ำตาล ที่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้า แห อวน และหนังได้ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาย้อมสีเส้นไหม โดยการลอกเอาเฉพาะเปลือกต้นแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มสกัดสีกับน้ำ ในอัตราส่วน 1:2 (เปลือกต้นสีเสียด 15 กิโลกรัม จะย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม) โดยให้ต้มสกัดสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วนำน้ำสีที่ได้มาย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมได้มาแช่ในสารละลายสารช่วยติดสี สารส้ม และจุนสี ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาล (สีที่ได้จะมีความคงทนต่อการซักและคงทนต่อแสงในระดับต่ำ)
  4. เนื้อไม้สีเสียดมีลักษณะแข็งเหนียว สีน้ำตาลแดง ไสกบตกแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ได้ เช่น เสา คาน ตง สะพาน กงล้อเกวียน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด ด้ามพร้า ฯลฯ และยังนำมาใช้ทำถ่านทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหารหรือให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูได้ด้วย ส่วนเยื่อไม้ที่เหลือจากการสกัดเอายางออกยังสามารถนำมาใช้ทำแผ่นไม้อัดได้อีกด้วย