ข้ามไปยังบทความ
ลักษณะของสีเสียด
- ต้นสีเสียด มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดียตะวันตกของปากีสถานจนถึงพม่า จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-15 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมดำหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นสะเก็ดตามยาว ผิวเปลือกค่อนข้างขรุขระ และสามารถลอกเปลือกผิวออกมาได้เป็นแผ่น ๆ เปลือกข้างในเป็นสีแดง ตามกิ่งก้านมีหนามเล็ก ๆ เป็นคู่ขึ้นอยู่ทั่วไป ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ทนต่อแสงแดดและความแห้งแล้งได้ดี สามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกสภาพ ขึ้นได้ดีในที่แห้งแล้งและภูเขาหิน แต่ต้องการน้ำและความชื้นในระดับปานกลาง ไม่ชอบน้ำขัง พบขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่งทางภาคเหนือ และป่าละเมาะบนพื้นที่ราบและที่แห้งแล้งทั่วไป
- ใบสีเสียด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงสลับ ยาวประมาณ 9-17 เซนติเมตร ใบย่อยมีจำนวนมากและมีขนาดเล็ก ออกเป็นคู่ ๆ ตรงข้ามกันมีอยู่ประมาณ 20-50 คู่ เรียงชิดซ้อนทับกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมนเบี้ยว มีขนขึ้นประปราย หลังใบและท้องใบเรียบ ไม่มีก้าน
- ดอกสีเสียด ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้บริเวณปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-10 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากอัดกันแน่น รวมกันเป็นช่อยาวคล้ายหางกระรอก ก้านช่อมีขน ดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีขาวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นพู่ รูปทรงกระบอกตรง ไม่มีกลีบดอก กลีบรองดอกเป็นสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวนวล มีกลีบ 5 กลีบ ยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ติดกันที่ฐาน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรไม่ติดกัน เกสรเป็นเส้นเล็ก ๆ สีขาว โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม
- ผลสีเสียด ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนยาว รูปบรรทัด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายและส่วนโคนฝักเรียวแหลม ตัวฝักตรง ผิวฝักเรียบเป็นมัน ซึ่งเมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีน้ำตาลดำ เมื่อฝักแก่จะแห้งและแตกอ้าออกตามด้านข้าง มองเห็นเมล็ดภายในซึ่งมีประมาณ 3-7 เมล็ด เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเป็นมัน ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปแบน (เมล็ดจำนวน 1,000 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 65 กรัม) โดยจะออกผลในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม
- ก้อนสีเสียด คือ ยางที่ได้จากต้นสีเสียดที่ถูกนำมาเคี่ยวจนงวดเป็นก้อนสีดำ หรือแก่นสีเสียดที่ถูกนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ กับน้ำ กรองเคี่ยวต่อจะได้ยางสีน้ำตาลดำ มีลักษณะเหนียว แล้วนำมาปั้นเป็นก้อน ทิ้งไว้จนแห้งแข็งเก็บไว้ใช้ ไม่มีกลิ่น มีรสขมและฝาดจัด นำมาบดหรือต้มรับประทานเป็นยา
สรรพคุณของสีเสียดเหนือ
- เปลือกต้นใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ปรุงเป็นยาแก้ธาตุพิการ (เปลือกต้น) ใช้เป็นยาบำรุงธาตุและแก้อติสาร (ก้อนสีเสียด)
- ก้อนสีเสียดและเปลือกต้นสีเสียด มีสรรพคุณช่วยปิดธาตุ คุมธาตุ แก้อาการลงแดง (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
- ใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่น แก้อาการไอ (ก้อนสีเสียด)
- ช่วยแก้ปากเป็นแผล ช่วยห้ามเลือดที่ออกจากจมูก รวมถึงอาการเจ็บที่มีเลือดออก (ก้อนสีเสียด)
- ใช้รักษาเหงือก ลิ้น และฟัน และช่วยรักษาแผลในลำคอ (ก้อนสีเสียด)
- ใช้เป็นยาแก้ท้องเดิน ด้วยการใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดให้เป็นผงประมาณ 1/3-1/2 ช้อนชา (ประมาณ 0.3-1.0 กรัม) แล้วต้มเอาน้ำดื่มให้หมดใน 1 ครั้ง โดยให้ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณแก้ท้องเดินได้เช่นเดียวกัน (ก้อนสีเสียด, เปลือกต้น) หรือจะใช้ผงสีเสียดผสมกับผงอบเชย อย่างละเท่ากัน ถ้าท้องเดินมากให้ใช้ 1 กรัม ถ้าท้องเดินให้ใช้เพียง 1/2 กรัม แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง ใช้รับประทานครั้งละ 4 ช้อนแกง หรือประมาณ 30 มิลลิเมตร วันละ 3 ครั้ง (ผงสีเสียด)
- ช่วยแก้อาการท้องเสียเรื้อรัง ลำไส้อักเสบ (ก้อนสีเสียด)
- แก่นมีฤทธิ์ฝาดสมานเนื่องจากมีสารแทนนิน ตำรายาไทยจะใช้กินเป็นยาแก้ท้องร่วง (แก่น, เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด) ส่วนเปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วงอย่างแรง (เปลือกต้น)[
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด หรือใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เป็นยาแก้บิด (เปลือกต้น) ส่วนสีเสียดมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิดมูกเลือด (ก้อนสีเสียด)
- ใช้รักษาริดสีดวง (ก้อนสีเสียด)
- ใช้เป็นยาห้ามเลือด ด้วยการใช้ผงสีเสียดนำมาละลายกับน้ำใช้ใส่แผลสด (ผงสีเสียด)
- แก่นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (แก่น) เปลือกต้น มีรสฝาด เป็นยาสมานแผล และใช้เป็นยาชะล้างบาดแผล แก้แผลเน่าเปื่อยเรื้อรัง แผลหัวแตก ล้างแผลหัวนมแตก (เปลือกต้น) ก้อนสีเสียดใช้เป็นยาทาสมานบาดแผล หรือรักษาบาดแผล หรือนำมาต้มใช้ชะล้างบาดแผล ล้างแผลที่ถูกไฟไหม้ ทำให้แผลหายเร็ว (ก้อนสีเสียด)
- ใช้ภายนอกเป็นยารักษาโรคผิวหนัง (แก่น, ก้อนสีเสียด)
- เมล็ดสีเสียดที่อยู่ในฝัก นำมาฝนเป็นยาทาแก้โรคหิด (เมล็ด)
- เมล็ดนำมาฝนทารักษาแผลน้ำกัดเท้า (เมล็ด) หรือจะใช้ก้อนสีเสียดฝนกับน้ำให้ข้นใช้ทา หรือใช้ผงสีเสียดผสมกับน้ำมันพืชทาบริเวณแผลน้ำกัดเท่าก็ได้เช่นกัน (ก้อนสีเสียด)
- เปลือกต้นนำมาต้มใช้น้ำที่ต้มเป็นยาระงับเชื้อ หรือจะใช้ก้อนสีเสียดนำมาบดหรือต้มทาเป็นยาระงับเชื้อก็ได้เช่นกัน (เปลือกต้น, ก้อนสีเสียด)
- สีเสียดใช้ใส่ปูนที่รับประทานกับหมากและพลู จะช่วยป้องกันปูนกัดปากได้ (สีเสียด)
ประโยชน์ของสีเสียดเหนือ
- ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้แก่นไม้สีเสียด นำมาเคี้ยวกินกับหมาก
- ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภท วัว ควาย ทั้งต้นใช้เลี้ยงครั่ง
- เปลือกต้นและก้อนสีเสียดถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมผ้าและฟอกหนังสัตว์ เนื้อไม้หรือแก่นของสีเสียดจะให้สีน้ำตาล ที่สามารถนำมาใช้ย้อมผ้า แห อวน และหนังได้ หรือจะใช้เปลือกต้นนำมาย้อมสีเส้นไหม โดยการลอกเอาเฉพาะเปลือกต้นแล้วนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้มสกัดสีกับน้ำ ในอัตราส่วน 1:2 (เปลือกต้นสีเสียด 15 กิโลกรัม จะย้อมเส้นไหมได้ 1 กิโลกรัม) โดยให้ต้มสกัดสีนาน 1 ชั่วโมง แล้วนำน้ำสีที่ได้มาย้อมเส้นไหมด้วยกรรมวิธีการย้อมร้อน จากนั้นนำเส้นไหมที่ย้อมได้มาแช่ในสารละลายสารช่วยติดสี สารส้ม และจุนสี ก็จะได้เส้นไหมสีน้ำตาล (สีที่ได้จะมีความคงทนต่อการซักและคงทนต่อแสงในระดับต่ำ)
- เนื้อไม้สีเสียดมีลักษณะแข็งเหนียว สีน้ำตาลแดง ไสกบตกแต่งได้ยาก สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ ได้ เช่น เสา คาน ตง สะพาน กงล้อเกวียน หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือทางการเกษตรต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด ด้ามพร้า ฯลฯ และยังนำมาใช้ทำถ่านทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับหุงหาอาหารหรือให้ความอบอุ่นในช่วงฤดูได้ด้วย ส่วนเยื่อไม้ที่เหลือจากการสกัดเอายางออกยังสามารถนำมาใช้ทำแผ่นไม้อัดได้อีกด้วย