- ต้นเจตมูลเพลิงขาว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างในเขตร้อน ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบได้มากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ โดยจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุได้หลายปี แตกกิ่งก้านมากกิ่งก้านมักทอดยาว ลำต้นตั้งตรงหรือพาดพันบนต้นไม้อื่น ส่วนกิ่งเอนลู่ลง ต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร บ้างว่าสูงได้ประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวเข้ม กิ่งอ่อนเป็นสีเขียวเป็นร่องเหลี่ยม ผิวเรียบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเป็นไม้ในที่ร่มรำไร ชอบความชื้นและที่แฉะ มักพบขึ้นตามป่าที่ราบ ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าดงดิบทั่วไป
- ใบเจตมูลเพลิงขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามข้อ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก รูปกลมรี รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม ตอนปลายเป็นติ่ง โคนใบเว้าหรือเป็นรูปลิ่มหรือมน ส่วนขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.8-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบบางและเป็นสีเขียวอ่อน
- ดอกเจตมูลเพลิงขาว ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โดยช่อดอกเป็นแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกย่อยมีหลายดอก แกนกลางและก้านช่อดอกจะมีต่อมไร้ก้าน (ส่วนเจตมูลเพลิงแดงจะไม่มี) ก้านมียางเหนียว กลีบดอกเป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ รูปหอก หรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกแหลมหรือเป็นติ่ง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร จำนวน 5 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ส่วนก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ มีลักษณะเป็นหลอดเล็กยาวประมาณ 0.6-1.2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวมีต่อมน้ำยางเหนียวติดมือได้ ช่อดอกยาวได้ประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ใบประดับมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.4-0.8 เซนติเมตร ส่วนใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีต่อมอยู่หนาแน่น
- ผลเจตมูลเพลิงขาว ผลเป็นแบบแคปซูลแห้ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรี ยาว กลม หรือเป็นรูปขอบขนาน ผลเป็นสีเขียวและมีขนเหนียวรอบผล แตกได้เป็น 5 ปาก มีร่องตามยาว
สรรพคุณของเจตมูลเพลิงขาว
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (ราก, ลำต้น)
- รากใช้เข้ายาช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก)
- รากใช้เข้ายาบำรุงโลหิต (ราก)
- ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ราก)
- ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด (ราก, ทั้งต้น)
- ใบมีรสร้อน แก้ลมและเสมหะ แก้ลมในกองเสมหะ (ใบ)
- ดอกมีรสร้อน ใช้แก้โรคหนาวเย็น (ดอก)
- ช่วยขับโลหิตที่เป็นพิษ (ราก)
- ดอกใช้เป็นยาแก้โรคตา (ดอก)
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย (ราก, ลำต้น)]หรือจะใช้ใบเป็นยาแก้โรคมาลาเรียก็ได้เช่นกัน โดยใช้ใบสดประมาณ 8-9 ใบ นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกตรงข้อมือทั้งสองข้างตรงบริเวณชีพจร โดยให้พอกก่อนที่จะเกิดอาการสักประมาณ 2 ชั่วโมง และให้พอกไปจนกระทั่งบริเวณที่พอกนั้นเย็น แล้วค่อยเอาออก (ใบ)ส่วนชาวม้งจะนำมาใบทุบแล้วหมกไฟให้ร้อน แล้วนำไปไปห่อด้วยผ้า ใช้ห่อมือห่อเท้าผู้ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย ด้วยเชื่อว่าจะช่วยลดไข้ได้ (ใบ)
- ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ (ราก, ลำต้น)
- ใบช่วยขับเสมหะ (ใบ)
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยทำให้อาเจียน (ราก, ลำต้น)
- ช่วยแก้อาการหาวเรอ (ราก)
- ใบมีรสร้อน ช่วยแก้ปอดบวม (ใบ)
- หากเต้านมอักเสบ ให้นำใบสดมาตำแล้วเอาผ้าก๊อซห่อ ใช้พอกบริเวณที่เป็นจนหาย (ใบ)
- รากและทั้งต้นมีรสเผ็ดฝาด ใช้เป็นยาเย็นร้อนเล็กน้อย มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและหัวใจ ใช้เป็นยาขับลม (ราก, ทั้งต้น) ตำรายาไทยรากเจตมูลเพลิงขาวมีรสร้อน ใช้เข้ายาแก้ลมในตัว (ราก) ช่วยขับลมในอก (ราก)
- แก้อาการปวดกระเพาะ แน่นจุกเสียดท้อง (ราก, ทั้งต้น)
- ใบช่วยในการขับผายลม (ใบ) รากช่วยขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ราก)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ, ราก) บ้างว่าใช้ทั้งต้น
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย (ราก, ทั้งต้น)
- รากใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ราก, ลำต้น)
- ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร (ดอก, ราก)
- ต้นหรือลำต้นมีรสร้อน ใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือขับระดูเสียให้ตกไป (ต้น, ราก) แก้ประจำเดือนไม่เป็นปกติ ประจำเดือนไม่มา แก้อาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน (ราก, ทั้งต้น) ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านของขังหวัดอุบลราชธานีจะใช้รากเข้ายากับพริกไทย นำมาดองกับเหล้าดื่มเป็นยาขับประจำเดือน (แต่เจตมูลเพลิงแดงจะมีฤทธิ์แรงกว่า[5]) ส่วนตำรายาจีนจะใช้รากเจตมูลเพลิงขาว 15 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทานเป็นยาขับประจำเดือน (บ้างว่าใช้รากแห้ง 30 กรัมและเนื้อหมูแดง 60 กรัม) (ราก)
- ราก ลำต้น ใช้ต้มกับน้ำดื่มจะช่วยทำให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น (ราก, ลำต้น)
- หากตับหรือม้ามโต ให้ใช้ทั้งต้นเจตมูลเพลิงขาว นำมาดองกับเหล้ารับประทานเช้าเย็น หรือจะนำต้นแห้งมาบดเป็นผง ผสมกับแป้งข้าวเหนียวทำให้เป็นยาลูกกลอนใช้รับประทานหลังอาหารครั้งละ 1 เมล็ด (ขนาดเม็ดละประมาณ 3-3.5 กรัม) เช้าเย็นก็ได้ (ทั้งต้น) หรือจะใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน จะช่วยแก้อาการม้ามบวมได้ แต่ถ้าอาการหนักก็ให้นำใบสดมาตำให้ละเอียดคลุกกับข้าวเหนียวปั้นเป็นเม็ดขนาดพอดี แล้วนำไปนึ่งให้สุก ใช้รับประทานก่อนนอนและตื่นนอนครั้งละ 1 เม็ด (ราก, ใบ)
- ใบนำมาตำคั้นเอาแต่น้ำใช้ทาหรือพอกเป็นยารักษาแผลสด ห้ามเลือด (ใบ)
- ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก, ทั้งต้น)
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรเจตมูลเพลิงขาว
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้เป็นอันขาด เพราะจะทำให้แท้งบุตรได้ เนื่องจากมีสารบางอย่างที่เหมือนกับเจตมูลเพลิงแดง ที่มีฤทธิ์ในการบีบมดลูกและทำให้แท้ง (แต่ฤทธิ์ของเขตมูลเพลิงขาวจะอ่อนกว่า)
- เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตด้วยว่าอาการของโรคผิวหนังดีขึ้นหรือไม่ หากมีอาการพุพองมากยิ่งขึ้นให้หยุดใช้ยา เพราะสมุนไพรชนิดนี้หากใช้ในปริมาณมากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้
ประโยชน์ของเจตมูลเพลิงขาว
- นอกจากจะใช้เจตมูลเพลิงเป็นยาสมุนไพรแล้ว เรายังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย เพราะมีดอกที่ดูสวยงาม มีอายุได้หลายปี ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแยกหน่อและปักชำ
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/