ลักษณะของข่าต้น
- ต้นข่าต้น จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ บางต้นอาจสูงได้ถึง 25 เมตร เนื้อไม้จะฟ่ามเบาเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ และมีกลิ่นหอมฉุน ร้อน ๆ คล้ายกลิ่นการบูรหรือคล้ายกลิ่นของเทพทาโร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเชิงเขา มีมากตามเชิงเขาสระบาปและบ้านอ่างจังหวัดจันทบุรี และตามป่าจังหวัดปราจีนบุรี สระบุรี ซึ่งชาวบ้านในจังหวัดปราจีนบุรีจะเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “เทพทาโร” (ออกเสียงว่า เทบ-พะ-ทา-โร) กลับกันกับจังหวัดอื่น
- ใบข่าต้น ออกใบดกและหนาทึบเป็นไม้ร่มได้ดี[1] ใบเป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร มีเส้นใบคล้ายขนนก เรียงเป็นคู่ประมาณ 6-8 คู่ มีกิ่งขนาดเล็ก
- ดอกข่าต้น ดอกมีขนาดเล็ก ออกเป็นช่อคล้ายร่ม กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกนั้นมีลักษณะเป็นรูปไข่ สีขาวอมเขียว ภายในดอกมีขนเล็กน้อย ดอกมีเกสรเพศผู้ 9 อัน
- ผลข่าต้น ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมไข่กลับสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ตรงขั้วเมล็ดจะมีสีแดง รูปเป็นแบบลูกกลมสามเหลี่ยม
สรรพคุณของข่าต้น
- เนื้อไม้มีรสเผ็ด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ (เนื้อไม้)
- ตำรับยาแก้ไข้หวัด แก้ไอ อาการไอเรื้อรัง ตัวร้อน ออกหัดตัวร้อน ให้ใช้เมล็ดข่าต้นประมาณ 5-6 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำรับประทาน (เมล็ด)
- เนื้อไม้ใช้ปรุงเป็นยาหอมลม รักษาท้องขึ้น อืดเฟ้อ จุกเสียด (เนื้อไม้)
- ใช้เป็นยาขับลมในลำไส้ (เนื้อไม้)
- รากใช้ดองกับเหล้ารับประทานเป็นยาขับลมชื้นในร่างกาย (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้กระเพาะลำไส้อักเสบ ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้องน้อย (ใบ, ผล, ราก, เปลือก)
- ตำรับยาแก้บิด จะใช้เมล็ดข่าต้นประมาณ 5-8 กรัม นำมาต้มกับใบยูคาลิปตัสประมาณ 6-8 กรัม รับประทาน (ตำรับยานี้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอด้วย) (เมล็ด)
- เนื้อไม้ใช้ปรุงร่วมกับสะค้านและต้นดาวเรือง นำมารับประทานเป็นยารักษาฝีลม (เนื้อไม้)
- ใช้เป็นยาช่วยขับโลหิตและน้ำเหลือง (เนื้อไม้)
- ใบมีประสิทธิภาพในการห้ามเลือดและช่วยสมานแผลสด (ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้ฟกช้ำ ไขข้ออักเสบ เนื่องจากมีลมชื้นเกาะติดภายใน ด้วยการใช้รากนำมาดองกับเหล้ารับประทาน (ราก)
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com