ลักษณะของต้นแก้ว
- ต้นแก้ว เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคในป่าดิบแล้งจากที่ราบสูงจนถึงที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร โดยจัดเป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี ชอบแสงแดดเต็มวัน-รำไร และความชื้นปานกลาง-ต่ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอน
- ใบแก้ว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ
- ดอกแก้ว ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี
- ผลแก้ว ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร
สรรพคุณของต้นแก้ว
- ใบมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (ใบ)
- ช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น (ราก)
- ช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ (ดอก, ใบ)
- ช่วยแก้อาการไอ (ดอก, ใบ)
- ราก ก้าน และใบสดสามารถนำมาใช้เป็นยาชาระงับอาการปวดได้ จึงมีการนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดฟันและปวดกระเพาะ (ราก, ก้าน, ใบสด) บ้างก็ว่าก้านและใบสดมีรสเผ็ดร้อนขม นำมาต้มใช้เป็นยาอมบ้วนปากแก้อาการปวดฟันได้เช่นกัน (ก้านใบ, ใบสด)
- รากใช้เป็นยาแก้ฝีฝักบัวที่เต้านม (ราก)
- รากใช้เป็นยาช่วยขับลมชื้นในร่างกาย แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก)
- ใบช่วยแก้ท้องเสีย (ใบ)
- ช่วยแก้บิด (ใบ)
- ใบช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ (ใบ)
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก, ใบ)
- ใช้เป็นยาแก้ปวดกระเพาะ ด้วยการใช้ใบแก้วแห้ง, กานพลู, เจตพังคี, และเปลือกอบเชย นำมาบดเป็นผงใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นยารับประทานครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 3 ครั้ง หรือจะนำผงที่ได้มาบดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลืองก็ได้ โดยใช้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง (ใบแห้ง)
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด (ใบ)
- ใบใช้เป็นยาขับประจำเดือนหรือระดูของสตรี (ใบ หรือจะใช้รากแห้งประมาณ 10-15 กรัม (สดให้ใช้ 30-60 กรัม) นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (รากแห้ง)
- รากและต้นแห้งนำมาหั่นและต้มเคี่ยวแล้วกรองเอาแต่น้ำมาใช้ ช่วยเร่งการคลอดบุตรของสตรี โดยใช้ผ้าพันแผลจุ่มกับน้ำยาสอดเข้าไปที่ปากมดลูก (ราก, ต้นแห้ง)
- รากใช้เป็นยาแก้ฝีในมดลูก (ราก)
- รากสดใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นแผล (รากสด) ใช้เป็นยาแก้แผลคัน (ราก)
- ใช้เป็นยาแก้ผดผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและที่เกิดจากแมลงกัดต่อย (ราก, ก้าน, ใบสด) แก้อาการคันที่ผิวหนัง (ราก)
- แก้แมลงสัตว์กัดต่อย ด้วยการใช้รากและใบสดนำมาต้มใช้ชะล้างบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อย (ราก, ใบสด) แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย (ราก)
- รากสดมีรสเผ็ดสุขุม นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้แผลฟกช้ำได้ (รากสด) แก้ฟกช้ำดำเขียว (ราก) แก้แผลเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทบกระแทก (ใบ)
- ช่วยแก้ฟกช้ำ ด้วยการใช้ใบแก้วสด, ขมิ้น, ขิง และไพร นำมาตำให้ละเอียดและผสมกับเหล้า แล้วนำไปคั่วให้ร้อน นำผ้าสะอาดห่อ ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำประมาณ 20-30 นาที โดยให้ทำวันละ 2-3 ครั้ง (ใบสด)
- รากใช้แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย บรรเทาอาการปวดบวม แต่ต้องนำไปใช้ร่วมกับตำราแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนจีน (ราก) บ้างว่าใช้รากแห้งนำมาหั่นเป็นฝอยใช้ตุ๋นกับหางหมูเจือกับสุราใช้กินเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยเอว (รากแห้ง)
- ก้านและใบสดเมื่อนำมาบดแช่กับแอลกอฮอล์ 24 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ทาหรือฉีดเป็นยาระงับอาการปวดได้ (ก้านใบ, ใบสด)
- ดอกและใบใช้เป็นยาแก้ไขข้ออักเสบ (ดอก, ใบ)
วิธีและปริมาณที่ใช้ของสมุนไพรแก้ว
- รากและใบแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-18 กรัม แต่หากเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 20-35 กรัม
- ใช้เป็นยารักษาภายใน เพื่อแก้อาการท้องเสีย แก้บิด และขับพยาธิ ให้ใช้ก้านและใบสดประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว ใช้รับประทานหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือจะนำมาดองกับเหล้าแล้วใช้ดื่มแต่เหล้าครั้งละ 1 ถ้วยตะไลก็ได้
- ใช้เป็นยาภายนอก ให้ใช้ก้านและใบสดนำมาตำแล้วพอกหรือจะคั้นเอาแต่น้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรืออีกวิธีให้ใช้ใบแห้งนำมาบดเป็นผงใช้โรยใส่แผลก็ได้ หากใช้เป็นยาแก้ปวดหรือเป็นยาชาเฉพาะที่ก็ให้ใช้ใบและก้านสดที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ 50% ถ้าเป็นในส่วนของรากแห้งหรือรากสดก็ให้นำมาตำแล้วพอก หรือจะนำไปต้มเอาแต่น้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็นก็ได้
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นแก้ว
- ในใบมีน้ำมันหอมระเหย 0.25 โดยประกอบไปด้วยสาร Bisabolene, Carene, Citronellol, Eugenol, Geraniol, I-Candinenem, Paniculatin, Phebalosin, Methyl Anthranilate, Scopoletin, Scopolin
- ในกิ่ง เปลือกก้าน และผลของต้นแก้วมีสาร Mexoticin I, Hibiscetin, Heptamethyleeher
- สารสกัดจาก Petroleum ether ของต้นแก้ว เมื่อนำมาทดลองกับลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กของหนูขาวที่ทำการผ่าออกจากร่าง พบว่าสารดังกล่าวมีประสิทธิภาพทำให้การเกร็งตึงที่กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้มีการหย่อนคลาย
- จากการทดลองกับหัวใจที่ออกจากร่างของกบพบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเต้นของหัวใจของกบด้วย
- สารจากต้นแก้วที่ทำการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือช่วยยับยั้งเชื้อ Bacullus Inuza และเชื้อ Btaphylo Coccus ได้
*ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/