ลักษณะของไม้เท้ายายม่อม
- ต้นไม้เท้ายายม่อม จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดย่อม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-2.5 เมตร ไม่มีกิ่งก้านสาขาหรือแตกกิ่งน้อยบริเวณยอด ลักษณะโปร่ง บริเวณปลายกิ่งเป็นสันสี่เหลี่ยม ไม้เท้ายายม่อมเป็นไม้ลงรากแก้วอันเดียวลึก พุ่งตรง รากมีลักษณะกลม ดำ โต ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือวิธีการปักชำกิ่ง ไม้เท้ายายม่อมเป็นพรรณไม้ที่ปลูกง่ายและโตเร็ว เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ในประเทศไทยพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง
- ใบไม้เท้ายายม่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม หรือออกรอบข้อ ข้อละประมาณ 3-5 ใบ สลับกันจากตามข้อของลำต้นจนถึงส่วนยอด จะแตกกิ่งใหม่ ๆ ตามยอดสูง ๆ ของลำต้น ใบมีขนาดเล็กเรียว ลักษณะเป็นรูปวงรีแกมขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมใบหอกกลับ ปลายใบและโคนใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เส้นกลางใบงอโค้งเข้าหาลำต้น เกือบเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัดใบให้งอตามไปด้วยเมื่อแตกกิ่งใหม่
- ดอกไม้เท้ายายม่อม ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงตั้งตรง โดยจะออกที่ปลายกิ่งเป็นพุ่มกระจายคล้ายฉัตรเป็นช่อสั้น ๆ ตั้งชูขึ้น ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีขาว ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว ที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 กลีบ โค้งมน กลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยสีเขียว 5 แฉก เมื่อแก่เป็นสีแดง ดอกมีเกสรเพศผู้สีม่วงแดง 4 อัน ยื่นงอนพ้นออกมาจากกลีบดอก ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน
- ผลไม้เท้ายายม่อม ผลเป็นผลสดลักษณะกลมแป้นหรือมี 4-5 พูติดกัน ผิวผลเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินแกมสีดำ สีดำแดง หรือสีดำ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ผลมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่
สรรพคุณของไม้เท้ายายม่อม
- หัวในดินสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งได้ ซึ่งเรียกว่า “แป้งท้าวยายม่อม” ซึ่งตำรายาไทยจะนำแป้งท้าวยายม่อมมาละลายกับน้ำ น้ำตาลกรวด ตั้งไฟแล้วกวนให้สุก แล้วนำมาให้คนไข้ที่เป็นโรคเบื่ออาหารและมีอาการอ่อนเพลียกิน จะทำให้เกิดกำลังและชุ่มชื่นหัวใจ (หัวในดิน)
- รากสดมีรสขม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้ พิษกาฬ กระทุ้งพิษไข้หวัด ไข้เหนือ ไข้พิษ ไข้เพื่อดีพิการ ถอนพิษไข้ทุกชนิด ช่วยลดความร้อนในร่างกาย ด้วยการใช้รากสด 1 ราก นำมาตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำฝนหรือเหล้าโรง คั้นเอาน้ำกินเป็นยา (ราก) ส่วนต้นมีสรรพคุณเป็นยาขับพิษไข้ทุกชนิด (ต้น)
- รากมีรสจืดขื่น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ส่วนต้นมีรสจืดเฝื่อน ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, ต้น)
- ต้นและรากมีสรรพคุณเป็นยาขับยาเสมหะให้ลงเบื้องต่ำ ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับเสมหะ (ราก, ต้น)
- ช่วยแก้อาเจียน (ราก)
- รากและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด หืดไอ (ราก, ใบ)
- รากสดนำมาต้มต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้พิษได้ทุกชนิด (ราก)
- รากสดนำมาตำเอากากพอกบริเวณปากแผลเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู ช่วยดับพิษฝี แก้อาการแพ้ อักเสบ ปวดบวม (ราก)
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้รากไม้เท้ายายม่อมผสมกับเหง้าว่านกีบแรด ใบพิมเสนต้น เนระพูสีทั้งต้น ใช้น้ำซาวข้าว และน้ำเกสรบุนนาคเป็นน้ำกระสายยา ปั้นเป็นลูกกลอน ใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้กาฬ หรืออาการไข้ที่มีตุ่มบนผิวหนัง และตุ่มอาจมีสีดำ (ราก)
- ตำรายาไทยจะใช้รากเท้ายายม่อมเป็นตัวยาใน “พิกัดยาเบญจโลกวิเชียร” (ประกอบไปด้วยรากเท้ายายม่อม, รากคนทา, รากชิงชี่, รากย่านาง และรากมะเดื่อชุมพร) มีสรรพคุณโดยรวมคือแก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้ต่าง ๆ แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต และช่วยถอนพิษผิดสำแดง เป็นต้น (ราก)
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/