พญายอ

ลักษณะของพญายอ

  • ต้นพญายอ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มแกมเถา มักเลื้อยพาดไปตามต้นไม้อื่น ๆ มีความสูงได้ประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะเกลี้ยง ต้นอ่อนเป็นสีเขียว ลำต้นมีลักษณะกลม ผิวเรียบเป็นปล้องสีเขียว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำหรือแยกเหง้าแขนงไปปลูก เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี มีแสงแดดจัด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในประเทศไทยมักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วทุกภาคของประเทศ หรือพบปลูกกันตามบ้านทั่วไป

ต้นเสลดพังพอนตัวเมีย

ต้นพญายอ

  • ใบพญายอ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปใบหอก รูปรีแคบขอบขนาน ปลายใบและโคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-9 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเรียบ

ใบเสลดพังพอนตัวเมีย

  • ดอกพญายอ ออกดอกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 3-6 ดอก กลีบดอกเป็นสีแดงส้ม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก คือ ปากล่างและปากบน ดอกหนึ่งมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนกลีบรองกลีบดอกนั้นเป็นสีเขียว ยาวเท่า ๆ กัน มีขนเป็นต่อมเหนียว ๆ อยู่โดยรอบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ส่วนเกสรเพศเมียเกลี้ยงไม่มีขน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม (แต่มักจะไม่ค่อยออกดอก)

ดอกเสลดพังพอนตัวเมีย

พญาปล้องทอง

ลิ้นงูเห่า

  • ผลพญายอ ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ (แต่ผลไม่เคยติดเป็นฝักในประเทศไทย) ลักษณะของผลเป็นรูปกลมยาวรี ยาวได้ประมาณ 0.5 เซนติเมตร ก้านสั้น ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 4 เมล็ด

หมายเหตุ : เสลดพังพอน เป็นชื่อพ้องของพรรณไม้ 2 ชนิด คือ เสลดพังพอนตัวผู้ และเสลดพังพอนตัวเมีย ซึ่งจะแตกต่างกันตรงที่เสลดพังพอนตัวผู้ลำต้นจะมีหนามและมีดอกเป็นสีเหลือง ส่วนเสลดพังพอนตัวเมียลำต้นจะไม่มีหนามและมีดอกเป็นสีแดงส้ม เพื่อไม่ให้เป็นการสับสนหลาย ๆ ตำราจึงนิยมเรียกเสลดพังพอนตัวเมียว่า “พญายอ” หรือ “พญาปล้องทอง” โดยเสลดพังพอนตัวผู้นั้นจะมีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าเสลดพังพอนตัวเมีย และตำรายาไทยนิยมนำมาใช้ทำยากันมาก

สรรพคุณของพญายอ

  • รากและเปลือกต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง (รากและเปลือกต้น)
  • ทั้งต้นและใบใช้กินเป็นยาถอนพิษไข้ ดับพิษร้อน (ทั้งต้นและใบ) ใช้เป็นยาลดไข้ ด้วยการใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำซาวข้าว ใช้พอกบนศีรษะคนไข้ประมาณ 30 นาที อาการไข้และอาการปวดศีรษะจะหายไป (ใบ)
  • ช่วยแก้อาการผิดสำแดง (กินอาหารแสลงไข้ แล้วทำให้โรคกำเริบ) ด้วยการใช้รากสดนำมาต้มกินครั้งละประมาณ 2 ช้อนแกง (ราก)
  • ใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ ด้วยการนำใบสดมาเคี้ยวประมาณ 10 ใบ กลืนเอาแต่น้ำยาพอให้ยาจืด แล้วจึงคายกากทิ้ง (ใบ)
  • ช่วยแก้คางทูม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 10-15 ใบ ตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าโรง คั้นเอาน้ำมาทาบริเวณที่บวม อาการบวมจะหายไป และอาการเจ็บปวดจะหายไปภายใน 30 นาที (ใบ)
  • ใช้เป็นยารักษาโรคบิด (ทั้งต้นและใบ)
  • รากใช้ปรุงเป็นยาขับปัสสาวะ ขับประจำเดือน (ราก)
  • ใช้เป็นยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ (ทั้งต้น)
  • ช่วยแก้อักเสบแบบดีซ่าน (ทั้งต้น)
  • ใช้เป็นยาแก้แผลอักเสบมีไข้ ไข่ดันบวม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 3-4 ใบ นำมาตำกับข้าวสาร 3-4 เม็ด ผสมกับน้ำพอเปียก ใช้พอกประมาณ 2-3 รอบ จะช่วยให้อาการดีขึ้น (ใบ)
  • ลำต้นนำมาฝนแล้วใช้ทาแผลสดจะช่วยทำให้แผลหายเร็ว (ลำต้น)
  • ใช้รักษาแผลจากสุนัขกัดมีเลือดไหล ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5 ใบ นำมาตำพอกบริเวณแผลสัก 10 นาที (ใบ)
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกแผล แผลจะแห้ง หรือจะใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้า ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก จะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดีส่วนอีกตำราระบุว่า นอกจากจะใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้แล้ว ยังช่วยรักษาแผลเปื่อยเนื่องจากถูกแมงกะพรุนไฟ แผลสุนัขกัด และแผลที่เกิดจากการถูกกรดได้อีกด้วย เพียงแค่นำใบไปหุงกับน้ำมันแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • ใช้รักษาแผลน้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ใบประมาณ 3-4 ใบ กับข้าวสาร 5-6 เม็ด เติมน้ำลงไปให้พอเปียก แล้วนำมาพอก จะรู้สึกเย็น ๆ ซึ่งยาจะช่วยดูดน้ำเหลืองได้ดี ทำให้แผลแห้งไว โดยให้เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง พอกไปสักพักหนึ่งแล้วให้เอาน้ำมาหยอดกันยาแห้งด้วย (ใบ)
  • ใช้แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ด้วยการใช้ใบสดตำผสมกับเหล้าใช้ทา หรือใช้เหล้าสกัดใบพญายอ จะได้น้ำยาสีเขียวนำมาทาแก้ผื่นคัน (ใบ)
  • ใช้แก้สิวเม็ดผดผื่นคัน ด้วยการนำใบมาดองกับเหล้า แล้วผสมดินสอพองใช้ทาแก้สิวและเม็ดผดผื่นคัน (ใบ)
  • ใช้แก้ฝี ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกผสมกับเกลือและเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็น เปลี่ยนยาทุกเช้าและเย็น (ใบ)
  • ทั้งต้นและใบใช้เป็นยาขับพิษ ถอนพิษ โดยเฉพาะพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง มด ยุง ฯลฯ รวมถึงผื่นคัน ไฟลามทุ่ง ลมพิษ แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 5-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำใช้ทาบริเวณที่เป็น หรือใช้ใบสดนำมาตำให้พอแหลก แช่ในเหล้าขาวประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล ส่วนอีกตำรับยาแก้ลมพิษ ตามข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ใบตำผสมกับดินสอพอง ใส่น้ำเล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • ใช้รักษาอาการอักเสบ รักษาแผลร้อนในปาก แก้เริม (แผลผิวหนังชนิดเริม) อีสุกอีใส แก้งูสวัด ขยุ้มตีนหมา และใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ด้วยการใช้ใบพญายอสดประมาณ 10-20 ใบ (เลือกเอาเฉพาะใบสดสีเขียวเข้มเป็นมัน ไม่อ่อนหรือแก่จนเกินไป) แล้วนำมาตำผสมกับเหล้าหรือน้ำมะนาว คั้นเอาน้ำมาดื่มหรือเอาน้ำมาทาแผลและเอากากพอกบริเวณแผล หรืออีกวิธีให้เตรียมเป็นทิงเจอร์เพื่อใช้ทารักษาอาการอักเสบจากเริมในปาก โดยใช้ใบสด 1 กิโลกรัม นำมาปั่นให้ละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70% ลงไป 1 ลิตร แล้วหมักทิ้งไว้ 7 วัน ระเหยบนเครื่องอังไอน้ำให้ปริมาตรลดลงครึ่งหนึ่ง (ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยเด็ดขาด) และเติมกลีเซอรีน (Glycerine pure) อีกเท่าตัว (ครึ่งลิตร) แล้วนำน้ำยาพญายอกลีเซอรีนที่ได้มาใช้ทาแผลเริม งูสวัด แผลร้อนในปาก และใช้ถอนพิษต่าง ๆ สำหรับตำรายาแก้งูสวัดอีกตำรับจะใช้ใบสดผสมกับดอกลำโพง โกฐน้ำเต้า อย่างละเท่ากัน รวมกันตำให้พอแหลก แช่กับเหล้า แล้วนำมาใช้ทาแก้แผลงูสวัด (ใบ)
  • ใช้แก้ถูกหนามพุงดอตำหรือถูกใบตะลังตังช้าง ด้วยการนำขี้ผึ้งแท้มาลนไฟให้ร้อน แล้วนำมาคลึงเพื่อดูดเอาขนของใบตะลังตังช้างออกเสียก่อน แล้วจึงใช้ใบพญายอผสมกับเหล้าทาบริเวณที่เป็น (ใบ)
  • ใช้เป็นยาแก้แพ้เกสรรักษาป่า ยางรักป่า และยางสาวน้อยประแป้ง ด้วยการใช้ใบผสมกับเหล้า นำมาทาบริเวณที่คัน (ใบ)
  • ใช้แก้หัด เหือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 7 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 8 แก้ว ต้มให้เดือด 30 นาที เทยาออกและผึ่งให้เย็น แล้วนำใบสดมาอีก 7 กำมือ ตำผสมกับน้ำ 8 แก้ว แล้วเอาน้ำยาทั้งสองมาผสมกัน ใช้ทั้งกินและชโลมทา (ยาชโลมให้ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย) เด็กที่เป็นหัด เหือด ให้กินวันละ 3 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว (ใบ)
  • ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดบวม เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ กระดูกร้าว ช่วยขับความชื้นในร่างกาย แก้อาการปวดเมื่อยเนื่องจากเย็นชื้น (ทั้งต้น)
    รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยบั้นเอว (ราก)

*ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com/