ลักษณะของต้นหูกวาง
- ต้นหูกวาง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร บางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-35 เมตร (แต่ไม่ค่อยพบต้นที่ใหญ่มากในประเทศไทย) มีเรือนยอดหนาแน่น แตกกิ่งก้านแผ่ออกในแนวราบเป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร ลำต้นเปลาตรง ต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่จะเป็นพูพอนที่โคนต้น เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทาเกือบเรียบ แตกเป็นร่องแบบตื้น ๆ ตามแนวนอนและแนวตั้ง และลอกออกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล ส่วนเนื้อไม้เป็นสีแดง เป็นกลีบเล็กน้อย มีเสี้ยนไม้ละเอียดสามารถขัดชักเงาได้ดี ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด บางครั้งน้ำหรือค้างคาวก็ช่วยในกระจายพันธุ์ได้ด้วยเช่นกัน และสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำได้ดีอย่างดินร่วนพอควรหรือปนทราย[1],[2] หูกวางเป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายหาดที่พบขึ้นกระจายตามชายฝั่งทะเล พบปลูกทั่วตั้งแต่ประเทศอินเดียจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียทางตอนเหนือ ต้นหูกวางเป็นพืชทิ้งใบ โดยทั่วไปแล้วจะทิ้งใบ 2 ครั้ง ในรอบ 1 ปี หรือในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือยกุมภาพันธ์ และอีกช่วงในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อนขจะทิ้งใบ ใบหูกวางจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีส้มแดง ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำต้นหูกวางมาปลูกทั่วไปในพื้นที่เขตร้อนอย่างทวีปเอเชีย ส่วนในประเทศไทยมักพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ (ตราดและชลบุรี) ภาคตะวันตกเฉียงใต้ (ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี) และภาคใต้ (นราธิวาส ตรัง และสุราษฎร์ธานี)
- ใบหูกวาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันเป็นกระจุกหนาแน่นบริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ (ปลายใบกว้างกว่าโคนใบ) โคนใบมนเว้าหรืแสอบแคบเป็นรูปลิ่ม และมีต่อมเล็ก ๆ หนึ่งคู่อยู่ที่โคนใบบริเวณท้องใบ ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นหยักเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร หลังใบและท้องใบมีขน เนื้อใบหนา ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นเขียวเข้ม แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงเมื่อใกล้ร่วงหรือผลัดใบ มีก้านใบยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร มีขน มักผลัดใบในช่วงฤดูหนาวในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน
- ดอกหูกวาง ออกดอกเป็นช่อยาวแบบติดดอกสลับ โดยจะออกตามซอกใบ ลักษณะเป็นแท่งยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีขนาดเล็กและไม่มีกลิ่นหอม (บางข้อมูลว่ามีกลิ่นฉุนด้วยเล็กน้อย) ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่ในช่อเดียวกัน ดอกเพศผู้จะอยู่บริเวณปลายช่อ ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่บริเวณโคนช่อ (อีกข้อมูลระบุว่าดอกแบบสมบูรณ์จะอยู่โคนช่อ) ไม่มีกลีบดอก มีแต่กลีบเลี้ยงดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม 5 แฉก มีขนด้านนอก ดอกเกสรเพศผู้มี 10 ชั้น ดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 0.4-0.6 เซนติเมตร โดยดอกจะออกดอกสองครั้งรอบ 1 ปี คือ ในช่วงฤดูหนาวหลังจากแตกใบใหม่ (เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม) และอีกครั้งในช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม)
- ผลหูกวาง ผลเป็นผลเดี่ยวในแต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีค่อนข้างแบนเล็กน้อย ผลแข็ง มีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ผลด้านข้างเป็นแผ่นหรือเป็นสันบาง ๆ นูนออกรอบผล ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเหลืองอมเขียว และมีกลิ่นหอม ผิวผลเรียบ ผลเมื่อแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ เปลือกผลมีเส้นใย ภายในมีเมล็ดเดี่ยว เมล็ดมีขนาดใหญ่ เหนียว และเปลือกในแข็ง โดยผลจะแก่ในช่วงในช่วงแรกประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และอีกช่วงหนึ่งประมาณพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
- เมล็ดหูกวาง ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไข่หรือรูปรี แบนป้อมเล็กน้อยคล้ายกับผล เมื่อเมล็ดแห้งจะเป็นสีน้ำตาล แข็ง ภายในมีเนื้อมาก
สรรพคุณของหูกวาง
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ (ทั้งต้น)
- ใบมีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ (ใบ)
- ช่วยแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ (ใบ)
- ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด นำมาทาหน้าอกจะช่วยแก้อาการเจ็บหน้าอก หรือใช้ทาไขข้อและส่วนของร่างกายที่หมดความรู้สึก (ใบและน้ำมันจากเมล็ด)
- เปลือกมีรสฝาด สรรพคุณเป็นยาขับลม แก้ท้องเสีย (เปลือก)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้บิด (ทั้งต้น)
- ทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ทั้งต้น)
- ผลมีสรรพคุณเป็นยาถ่าย (ผล)
- ใบที่มีสีแดงจะมีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิ (ใบ)
- ใบใช้เป็นยารักษาโรคทางเดินอาหารและตับ (ใบ)
- บางข้อมูลระบุว่าเมล็ดใช้รับประทานเป็นยาแก้ขัดเบา แก้นิ่วได้ (เมล็ด)
- เปลือกใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (เปลือก)
- รากมีสรรพคุณช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาตามปกติ (ราก)
- ช่วยรักษาโรคโกนีเรีย (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) (เปลือก)
- เปลือกและทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาสมาน (เปลือก,ทั้งต้น)
- ใบใช้ผสมกับน้ำมันจากเนื้อในเมล็ด เป็นยารักษาโรคเรื้อน (ใบและน้ำมันจากเมล็ด)
- ใช้แก้โรคคุดทะราด (ทั้งต้น)
- ใบมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ (ใบ)
- ช่วยขับน้ำนมของสตรี (ทั้งต้น)
ประโยชน์ของหูกวาง
- เมล็ดหูกวางสามารถนำมารับประทานได้ และยังมีโปรตีนที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกายของเราอีกด้วย
- เมล็ดสามารถนำเอาไปทำเป็นน้ำมันเพื่อนำไปใช้บริโภค (คล้ายน้ำมันอัลมอนด์) หรือทำเครื่องสำอางได้
- เปลือกและผลมีสารฝาดมาก สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมย้อมสีผ้า ฟอกหนังสัตว์ และทำหมึกได้ ในอดีตมีการนำเอาเปลือกผลซึ่งมีสารแทนนินมาใช้ในการย้อมหวาย และได้มีการทดลองใช้ใบเพื่อย้อมสีเส้นไหม พบว่าสีที่ได้คือสีเหลือง สีเขียวขี้ม้า หรือสีน้ำตาลเขียว
- เนื้อไม้หูกวาง สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำบ้านเรือน หรือเครื่องเรือนได้ดี เพราะเป็นไม้ที่ไม่มีมอดและแมลงมารบกวน หรือนำมาใช้ทำฟืนและถ่านก็ได้
ภาพและข้อมูลจาก https://www.medthai.com