ต้นนนทรี

ต้นนนทรี

นนทรี

นนทรี ชื่อสามัญ Copper pod, Yellow flame, Yellow poinciana (นนทรี อ่านว่า นน-ซี)

นนทรี ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum pterocarpum (DC.) K.Heyne จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

 

 

สมุนไพรนนทรี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า สารเงิน (แม่ฮ่องสอน), กระถินป่า กระถินแดง (ตราด), นนทรีบ้าน เป็นต้น[1],[2] ต้นนนทรีเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนนทบุรีและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[2]

ลักษณะของนนทรี

ต้นนนทรี เป็นต้นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดียภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมไปถึงประเทศศรีลังกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทยไปจนถึงประเทศฟิลิปปินส์ และทวีปออสเตรเลียตอนเหนือ โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นค่อนข้างเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มทรงเรือนยอดแผ่กว้างเป็นรูปร่มหรือเป็นทรงกลมกลาย ๆ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาอมสีดำ เปลือกค่อนข้างเรียบ และอาจแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ ส่วนกิ่งแก่เกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลางและแสงแดดเต็มวัน เป็นต้นไม้ที่มักผลัดใบเมื่อมีอากาศแห้งแล้ง ชอบขึ้นตามป่าชายหาด

  • ใบนนทรีใบออกเป็นช่อเรียงสลับเวียนกันถี่ ๆ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ช่อหนึ่งยาวประมาณ 20-27 เซนติเมตร มีใบย่อยที่ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ประมาณ 9-13 คู่ แขนงย่อยคู่ต้น ๆ จะสั้นกว่าคู่ถัดไป และคู่ที่อยู่ปลายช่อก็จะสั้นเช่นกัน ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือหยักเว้าเล็กน้อย โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรหลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเรียบเป็นสีเขียวอ่อน
  • ดอกนนทรีออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ตั้งขึ้น โดยจะออกตามง่ามใบหรือที่ปลายกิ่ง มีกิ่งแขนงในช่อดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีเหลืองสด กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกมีลักษณะบางและค่อนข้างยับย่น โคนกลีบมีขนสีน้ำตาลอยู่ประปราย ดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 6-1.8 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบวางเกยทับกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน โดยทั่วไปจะเริ่มออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม และออกดอกทั้งต้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่อาจขยายเวลาได้ตามลักษณะของดินฟ้าอากาศในแต่ละปี และลักษณะของพันธุกรรมของต้นนนทรีแต่ละต้น

  • ผลนนทรีเนื่องจากต้นนนทรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว จึงออกผลเป็นฝัก ฝักมีลักษณะแบนเป็นรูปหอก ปลายฝักและโคนฝักเรียวแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ฝักสดเป็นสีเขียวพอแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ภายในฝักมีเมล็ดวางตัวเรียงขวางกับฝักประมาณ 1-4 เมล็ด เมล็ดมีความแข็งแรง มีรูปร่างและขนาดเท่าใบย่อย โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน

สรรพคุณของนนทรีป่า

  1. เปลือกต้นมีรสฝาดร้อน ใช้เป็นยากล่อมเสมหะและโลหิต (เปลือกต้น)
  2. ช่วยปิดธาตุ (เปลือกต้น)
  3. เปลือกต้นใช้เป็นยาขับผายลม (เปลือกต้น)
  4. เปลือกต้นมีสารแทนนินสูง จึงช่วยแก้อาการท้องร่วง ท้องเสียได้ (เปลือกต้น)ด้วยการนำเปลือกต้นมาเคี่ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน แล้วเอาน้ำมากิน (เปลือกต้น)
  5. ช่วยแก้บิด (เปลือกต้น)
  6. เปลือกต้นใช้เป็นยาขับโลหิต ขับประจำเดือนของของสตรี (เปลือกต้น)
  7. ใช้เป็นยาสมานแผลสด (เปลือกต้น)
  8. ยอดใช้เป็นยาทาแก้โรคเจ็ด (โรคผิวหนังชิดหนึ่ง) โดยใช้ยอด 1 กำมือนำมาตำให้ละเอียดผสมกับไข่ขาว (ไข่เป็ด) ใช้ทาบริเวณที่เป็น แล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วค่อยลอกออก (ยอด)
  9. เปลือกต้นนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมันเป็นยานวดแก้ตะคริว แก้กล้ามเนื้ออักเสบ

ประโยชน์ของนนทรี

  1. ยอดและฝักอ่อนใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะ ให้รสชาติฝาดมัน[6]
  2. เปลือกต้นเมื่อนำไปต้มจะให้สีน้ำตาลอมเหลือง ซึ่งนำมาใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกหรือใช้พิมพ์ผ้าปาเต๊ะ ใช้ย้อมแหและอวน[4],[5]
  3. เนื้อไม้นนทรีมีสีน้ำตาลอมสีชมพู เป็นมันเลื่อม เสี้ยนไม้ตรงหรือเป็นคลื่นบ้าง เนื้อไม้มีความหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบตบแต่งได้ง่าย มอดปลวกไม่กิน ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือนได้เป็นอย่างดี เช่น ทำพื้น เพดาน ฝา รอด ตง อกไก่ หรือใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องใช้ ทำหีบ พานท้ายปืน คันไถ ฯลฯ หรือใช้เผาทำถ่าน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นไม้มงคลอีกด้วย
  4. ต้นนนทรีเป็นพันธุ์ไม้โตเร็ว ปลูกง่าย มีความแข็งแรงทนทาน มีรูปทรงของต้นและมีดอกที่สวยงาม ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จึงเหมาะสำหรับนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ สวนสาธารณะ รีสอร์ท ริมทะเล ริมถนน ทางเดิน หรือที่จอดรถ ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงาและป้องกันลมได้ดี ใช้เป็นร่มเงาในสวนกาแฟได้ดีมาก เพราะเป็นไม้ตระกูลถั่ว จึงช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม  “นนทรี (Non Si)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 149.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 278 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า. “นนทรีจากป่าสู่นาคร”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: doctor.or.th.  [24 มี.ค. 2014].
  3. พรรณไม้บริเวณพระตำหนักเรือนต้น, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld6-2_1.htm. [24 มี.ค. 2014].
  4. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: bedo.or.th. [24 มี.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: lib.ku.ac.th.  [24 มี.ค. 2014].
  6. พืชผักพื้นบ้าน นครศรีธรรมราช 103 ชนิด, เทศบาลเมืองทุ่งสง. “นนทรี”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: tungsong.com.  [24 มี.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Forest and Kim Starr, Cerlin Ng, Tony Rodd, cpmkutty, Dinesh Valke, Himanshu Sarpotdar, Nieminski, Lourdes Zerimar)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

โพทะเล

โพทะเล ชื่อสามัญ Portia tree, Cork tree, Coast cotton tree, Indian tulip tree, Pacific rosewood, Seaside mahoe, Milo, Thespesia, Tulip tree, Rosewood of seychelles, Yellow mallow tree, Umbrella tree[

โพทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Thespesia populnea (L.) Sol. ex Corrêa (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Hibiscus populneus L.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)

สมุนไพรโพทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), บากู (ปัตตานี, มลายู-นราธิวาส), โพทะเล โพธิ์ทะเล (ภาคกลาง) เป็นต้น

สรรพคุณของโพทะเล

  • ต้นโพทะเลจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล มีลักษณะเรียบหรือขรุขระ มีรอยแตกตามยาวเป็นร่อง ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด โดยจัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิดที่มีความชุ่มชื้น และจะพบได้มากที่ดอนหรือตามชายฝั่งทะเลและตามริมแม่น้ำที่เป็นดินร่วนปนทราย มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นวงกว้าง สามารถพบขึ้นได้ในแอฟริกา อินเดีย ศรีลังกา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงภูมิภาคมาเลเซียและในหมู่เกาะแปซิฟิก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลทั่วไปและยังจัดเป็นพันธุ์ไม้ประจำจังหวัดสมุทรปราการ
  • ใบโพทะเลใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร และมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลและมีเกล็ด ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร และยังมีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 3-1 เซนติเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย
  • ดอกโพทะเลออกดอกตามง่ามใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบ ส่วนก้านดอกอ้วนสั้นหรือยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตรและมีเกล็ด ดอกมีริ้วประดับ 3 แฉก ร่วงได้ง่าย มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ๆ มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตรและมีเกล็ด ส่วนวงกลีบเลี้ยงเป็นรูปถ้วยไม่มีแฉก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายแผ่นหนังไม่หลุดร่วง ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลือง ลักษณะเป็นรูปไข่ กว้างและยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ส่วนโคนกลีบติดกันเป็นรูประฆังและมีจุดสีแดงเข้มอมสีน้ำตาลแต้มอยู่ที่โคนกลีบดอกด้านใน โดยดอกจะบานเต็มที่ภายในวันเดียวแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูแกมสีม่วงอ่อนและเหี่ยวอยู่บนต้น ก่อนที่จะร่วงหล่นในวันถัดมา ส่วนหลอดเกสรตัวผู้ยาวประมาณ 2.05 เซนติเมตร เป็นสีเหลืองจาง ๆ และมีอับเรณูติดอยู่ตลอดตามความยาวของหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม[1],[4] บ้างก็ว่าออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[3]
  • ผลโพทะเลผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ผลเป็นสันตื้น ๆ 5 สัน มีน้ำยางสีเหลือง มีก้านผลยาวประมาณ 2-8 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีเขียวเข้ม เปลือกผลแข็ง มีวงกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายจานติดอยู่ที่ขั้วของผล เมื่อผลแก่จะแห้งแตกไม่มีทิศทาง ไม่ร่วงหล่นและติดอยู่บนต้น ในผลมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ด หรือมีเมล็ด 4 เมล็ดในแต่ละช่อง ลักษณะของเมล็ดยาวรีคล้ายเส้นไหมเป็นสีน้ำตาลอ่อนค่อนข้างแบน ยาวประมาณ 8-1.5 เซนติเมตร โดยผลจะแก่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนเมษายน (ออกผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม)

สรรพคุณของโพทะเล

  1. รากใช้กินเป็นยาบำรุง (ราก)
  2. รากใช้เป็นยารักษาอาการไข้ (ราก)
  3. ดอกใช้ต้มกับน้ำนมหยอดหู ใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บหู โดยใช้ดอกสดประมาณ 2-3 ดอกนำมาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู จะช่วยแก้อาการเจ็บในหูได้ (ดอก)
  4. เปลือกใช้เป็นยาทำให้อาเจียน (เปลือก)
  5. เมือกที่ได้จากการนำส่วนของเปลือกสดมาแช่น้ำใช้สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร (เมือก)
  6. รากใช้เป็นยาระบาย ส่วนใบใช้ทำเป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก, ใบ)
  7. รากใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (ราก)
  8. ใบใช้ทำเป็นผงยาสำหรับใช้ใส่รักษาแผลเรื้อรัง แผลสด และช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ใบแห้งประมาณ 2-3 ใบนำมาบดให้เป็นผงละเอียดแล้วนำมาพอกและทาบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)บ้างก็ว่าน้ำต้มจากเปลือกก็นำมาใช้ชะล้างแผลเรื้อรังได้เช่นกัน (เปลือก)
  9. ผลและใบใช้ตำพอกแก้หิด (ผล, ใบ)

ข้อควรระวัง ! : น้ำมันที่ได้จากเมล็ดหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ ดังนั้นควรระมัดระวังให้มาก ส่วนยางจากต้นและเปลือก หากเข้าตาก็ทำให้ตาบอดได้ ส่วนเปลือกมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน

ประโยชน์ต้นโพทะเล

  1. ดอก ผล และใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้
  2. ต้นโพทะเลมีดอกที่สวยงาม เป็นไม้โตเร็วและมีดอกขนาดใหญ่ จึงใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาได้
  3. ไม้ของต้นโพทะเลมีคุณสมบัติคงทน แข็งแรง ทนปลวก เนื้อไม้เหนียว ไสกบตกแต่งได้ง่าย และขัดชักเงาได้เป็นอย่างดี มีสีแดงเข้มดูสวยงาม จึงสามารถนำมาใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทำเครื่องดนตรี หรือทำเครื่องเรือน ใช้ทำกระดานพื้น เครื่องกลึง ด้ามเครื่องมือ ทำคิวบิลเลียด พานท้ายปืน รางปืน ทำพายแจวเรือ กรรเชียง ใช้ทำเป็นถ้วยชามใส่อาหารเนื่องจากไม่มีกลิ่น ฯลฯ
  4. เปลือกสามารถนำมาใช้ตอกหมันเรือ ใช้ทำเชือกและสายเบ็ดได้
  5. ในบางประเทศนิยมปลูกต้นโพทะเลไว้ตามวัดเพราะถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์
เอกสารอ้างอิง
  1. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.  “โพทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: nectec.or.th.  [19 ธ.ค. 2013].
  2. โรงเรียนดาราพิทยาคม ตำบลบ้านดารา อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์.  “โพทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: drpk.ac.th.  [19 ธ.ค. 2013].
  3. หนังสือสมุนไพรพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด (สุทัศน์ จูงพงษ์).
  4. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “โพทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: dnp.go.th/botany/.  [19 ธ.ค. 2013].
  5. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พิษระคายเคืองผิวหนัง โพทะเล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: rspg.or.th.  [19 ธ.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jupiter Nielsen, D.Eickhoff, naturgucker.de, Sharpj99, mingiweng, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Lauren Gutierrez, judymonkey17, dinesh_valke, Jardín Botánico Nacional Viña del Mar Chile)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

ต้นเสม็ดแดง

ต้นเสม็ดแดง (ชื่อวิทยาศาสตร์Syzygium antisepticum ชื่อพ้อง: Syzygium gratum) หรือ เสม็ดชุน เหม็ดชุน ผักเม็ก ผักเสม็ด ไคร้เม็ด เม็ก เม็ดชุน เสม็ด เสม็ดเขา ยีมือแล เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ใบอ่อนสีแดง เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ดอกสีขาว ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน ผลสีขาวทรงกลมขนาดเล็ก มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน   เป็นพืชที่สามารถพบในป่าดิบแล้งโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร ได้แก่ หมู่เกาะสุมาตรา ชวา และเกาะบอร์เนียว พบขึ้นตามป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย  สันนิษฐานว่าใช้ในการอ้างอิงเป็นชื่อของเกาะเสม็ด ปัจจุบันหาได้ยากในลักษณะที่เป็นผักสด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

เสม็ดแดง หรือ Syzygium antisepticum จัดอยู่ในวงศ์ชมพู่ (Myrtaceae) ชื่ออื่น: ผักเสม็ด, ผักเม็ก (นครราชสีมา); ไคร้เม็ด (เชียงใหม่); เม็ก (ปราจีนบุรี); เม็ดชุน (นครศรีธรรมราช); เสม็ด (สกลนคร, สตูล); เสม็ดเขา, เสม็ดแดง (ตราด); เสม็ดชุน (ภาคกลาง); ยีมือแล (มลายู – ภาคใต้)

เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางมีความสูงโดยทั่วไป 7 เมตร สามารถสูงได้ 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลแดง แตกสะเก็ดแผ่นบางๆ โคนต้นที่มีอายุมากมักเป็นพูพอน

กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม ใบอ่อนสีแดง ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม ใบรูปหอกแกมรูปไข่สีเขียว ใบด้านบนเป็นมัน ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม

ดอกสีขาว ถึง สีเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแยกแขนงตามปลายกิ่งและซอกใบ ช่อดอกยาว 8-12 ซม. ดอกไม่มีก้านดอก ฐานรองดอกรูปถ้วย ปากแคบ ขนาด 4-10 มม. กลีบเลี้ยง 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาว 5-10 มม.มักมีดอกดกและดอกบานพร้อมกัน ออกดอกเดือน มีนาคม-เมษายน

ผลสีขาว สีขาวขุ่น ทรงกลมขนาดเล็ก ขนาด 8-12 มม. มีเนื้อเมล็ดเดี่ยว ผลอ่อนสีเขียว ติดผลดกเป็นพวง ผลรสหวาน ออกผลเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

เสม็ดแดง ต่างจาก เสม็ดขาว ที่มีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ใกล้เคียงกัน คือ ทรงของใบ เส้นใบ สีของยอดอ่อน สีของเปลือกต้น

การใช้ประโยชน์

ต้นอายุน้อยใช้ปลูกในสวนสมุนไพร ลำต้นที่มีอายุมากใช้ประดับสวน มีผิวที่สวยโดดเด่น ให้ร่มเงาในบ้าน แข็งแรงและดูแลง่าย สามารถเพาะพันธุ์จากเมล็ด และ ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง

ยอดอ่อน ใบอ่อน มีรสเปรี้ยวอมฝาด ลวก หรือใช้รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ขนมจีนหรือข้าวยำ  ในใบเสม็ดแดง (ผักเม็ก) มีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง การรับประทานสดหรือจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตได้

ใช้ใบสดตำพอกแก้เคล็ดขัดยอกฟกบวม ตำรับยาพื้นบ้านอีสาน ยอดอ่อน กินเป็นยาขับลม แก้ท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อในเด็ก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Internet